เส้นทางสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้
แต่ละฝ่ายปรารถนาในสิ่งใด ?!
“รุกรบให้ถึงที่สุด” หรือ “หันหน้ามาเจรจา”
สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ร้อนระอุขึ้นทุกขณะ เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบได้ปฏิบัติการลอบวางระเบิด ซุ่มยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และ อาสามัครรักษาดินแดน (อส.) ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายคน
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือมีมือมืดลอบสังหารประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและไทยอิสลาม จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมาย ในบรรดาผู้สูญเสีย มีทั้งอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) พระ-เณร ผู้หญิง เด็ก และคนชรา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ เป็นพลเรือนที่ไม่ได้ติดอาวุธ หรือเป็นสายข่าวให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด สถานการณ์เช่นนี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกและความหวาดระแวง ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ฝ่ายทหารแสดงความเสียใจ ย้ำจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
หลังเหตุลอบยิงพระ-เณร ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่โดยทันที่ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีสำคัญๆ และย้ำนโยบายการปฏิบัติงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์ และสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง เช่น ครู พระ ผู้นำศาสนา และชุมชนไทยพุทธ ซึ่งเป็นเป้าหมายของความรุนแรงที่ไร้มนุษยธรรม
พร้อมทั้งได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ทอดทิ้งประชาชน และจะเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมทั้งสั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในพื้นที่ เน้นการทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา กำชับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบและเสริมกำลังในจุดที่มีกำลังไม่เพียงพอ
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุในการยกระดับการกระทำ เพื่อบั่นทอนความสงบสุขในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจ พร้อมปกป้องพี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ด้าน พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันต่อสู้ โดยอาศัยองค์ประกอบที่มีอยู่ในระบบ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และกลไกกระบวนการยุติธรรม มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา พร้อมสั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ในเชิงรับและเชิงรุก ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการสกัดกั้นการก่อเหตุต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดของจุดตรวจ และการลาดตระเวนเชิงรุก ควบคู่กับการใช้มาตรการด้านการข่าวในการติดตาม สืบสวน และจับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว
ขณะที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออกแถลงการณ์ โดยเนื้อหาระบุว่า เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก สตรี และผู้สูงอายุนั้น สมช. ขอประณามการกระทำที่ไร้อารยะดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและปราศจากซึ่งความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งล้วนแต่บั่นทอนบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมทั้งแสดงถึงความไม่จริงใจอันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“สมช.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อผู้ที่สูญเสีย และ สมช.ตระหนักดีว่า เพียงคำพูดไม่อาจทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นหายไป แต่ขอให้คำมั่นว่าภาครัฐจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด จะมผลักดันมาตรการคุ้มครองและปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่างเต็มกำลังความสามารถ”
แต่คำพูดของหน่วยงานความมั่นคงเหล่านี้ ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านในพื้นที่คลายความวิตกกังวลไปได้ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ประชาชนก็มักจะได้ยินคำมั่นสัญญาทำนองนี้อยู่เสมอ
สว.ใต้เรียกร้องให้รัฐบาล ใช้ แพ.ร.บ.การก่อการร้ายแทนกฎอัยการศึก
ด้านกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากภาคใต้ นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้แถลงข่าวถึงกรณีเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 21 ปี ปัจจุบันสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2568 มีการก่อเหตุความรุนแรงหลายครั้ง มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่รัฐบาลยังไม่ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาวพุทธ ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจริงจังจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมทั้งนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาล ยังไม่สามารถตอบโจทย์และไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร หากเทียบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการและให้ความสนใจกับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งออกกฎหมายการก่อการร้าย แทนการใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงของ 3 จังหวัดแดนใต้ ไม่ใช่ปัญหาการก่อความไม่สงบ แต่เป็นการก่อการร้าย”
การเจรจาสันติภาพทางออกใการเจรจาสันติภาพทางออกในการแก้ปัญหาไฟใต้จริงหรือ
ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลตอบโต้อย่างรุนแรง แต่อีกฝ่ายหนึ่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ขบวนการเจรจาสันติภาพ มาแก้ไขปัญหาไฟใต้
โดยเพจเฟซบุ๊ก “พรรคประชาชน - People’s Party” ได้โพสต์ข้อความ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากังวลอีกครั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ประชาชนทุกศาสนิกต่างตกอยู่ในความหวาดระแวง ซึ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งอยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่มเสี่ยงที่จะเลวร้ายลงมากที่สุดในรอบหลายปี
ประสบการณ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดว่า ในช่วงที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมีความคืบหน้าและมีทิศทางที่ชัดเจน สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงได้ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น รัฐบาลต้องตระหนักว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงกลับมาปะทุขึ้นอีกในระลอกล่าสุด เกิดจากความไม่ชัดเจนในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ว่าจะมีแนวทางในการสร้างความยุติธรรม นิติรัฐ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร โดยเฉพาะการปล่อยให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพหยุดชะงักมานานเกือบ 1 ปี
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลควรกลับมาสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพโดยเร็ว และในกระบวนการนั้นต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของทุกฝ่ายด้วย โดยจัดเวทีคู่ขนาน ทำให้พี่น้องทั้งชาวพุทธและมุสลิมมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของกระบวนการสันติภาพนี้ไปด้วยกัน
“พรรคประชาชน เห็นว่า ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในอนาคต ต้องมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งจากผู้ที่มีบทบาทและอำนาจในการสั่งหยุดความรุนแรงในพื้นที่ได้จริงเข้าร่วมด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการเจรจา และเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน”
กระบวนการเจรจาสันติภาพชกระบวนการเจรจาสันติภาพชะงักงัน มองไปข้างหน้ายังอึมครึม
การเจรจาเพื่อสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ ระหว่างรัฐไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบ มีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2556 สมัย รัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (เลขา สมช.ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย นายฮาซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะผู้เห็นต่าง ช่วงการพูดคุย ส่งผลให้การปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายลดระดับลงไปบ้าง จนมาถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา การเจรจายังดำเนินการต่อ แต่มีการลักลอบเผาอาคารร้านค้าสถานที่ต่างๆ และการขึ้นป้ายผ้า พ่นสีบนพื้นถนน สะพาน เพื่อเรียกร้องเอกราชปาตานี ในหลายพื้นที่ โดยไม่มุ่งเป้าทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอ
ยุคของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีศิลป์ ได้แต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่ทันจะได้น้ำ ได้เนื้อ นายเศรษฐามีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง นส.แพทองธาร ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา จากนั้นการพูดสันติภาพก็หยุดชงัก เหตุความรุนแรงขยายตัวไปทั่ว มีการวางระเบิดและลอบยิงเจ้าหน้าที่และเข่นฆ่าประชาชนแบบไม่จำกัดวง
จึงเป็นที่มาของเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ที่ขอให้รัฐบาลเร่งเปิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ 44 องค์กร โดย นายแวรอมลี แวบูละ นายกสมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธากัมปงตักวาและคณะ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า จะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและจัดทำเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งขอให้ภาคประชาสังคมได้จัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) เพื่อหาทางออกทางการเมืองแบบคู่ขนาน เช่น รูปแบบการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา อัตลักษณ์ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
“ขอให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการตระหนักถึงความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนและผู้บริสุทธิ์ โดยให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและยุติการใช้ความรุนแรง และขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง” นายแวรอมลี แวบูละ กล่าว
แต่เสียงเรียกร้องนี้ “กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง” การเจรจาสันติภาพครั้งใหม่ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากฝ่ายไทยขอให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ส่งตัวแทนที่มีอำนาจสั่งการกองกำลัง BRN ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ อย่างเช่น นายอับดุลเลาะห์ แวมานอ ผู้นำสูงสุด หรือ นายเด็ง อะแวจิ ผู้นำปีกทหารของ BRN มาเป็นตัวแทนเจรจาด้วยตนเอง ไม่ใช่ส่ง นายอานัส อับดุลห์รามาน ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ของ BRN มาเป็นตัวแทนในการเจรจา เช่นครั้งที่แล้ว
แต่ข้อเสนอนี้ ไม่ได้มีการตอบรับจาก BRN และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก (FACILITATOR) ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องการเจรจาสันติสุข ระหว่าง 2 ฝ่าย แต่อย่างใด
แน่นอนว่า เป็นเรื่องยากแสนยาก ที่การเจรจาสันติภาพจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐไทย และ BRN เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มก่อความไม่สงบ คือ “การตั้งรัฐปาตานี” ส่วนเป้าหมายอันดับรองลงไป คือ “การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งนอกจากจะมี จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส แล้ว ยังจะรวมเอา จ.สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เข้าไปด้วย
ถ้าข้อเสนอของ BRN ยังเป็นเช่นนี้ มีหรือที่คนไทยทั้งประเทศจะยินยอม มีหรือสันติสุขชายแดนใต้จะเป็นจริง !!