กรมปศุสัตว์ คุมเข้ม “โรคแอนแทรกซ์” ปิดพื้นที่-เร่งฉีดวัคซีนโคกระบือทุกตัว หลังพบผู้ป่วยที่จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 1 รายมีประวัติชำแหละและรับประทานเนื้อโคดิบ
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณี การแพร่ระบาดของ โรคแอนแทรกซ์ ในกลุ่มโค และพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ที่จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 1 ราย มีประวัติชำแหละและรับประทานเนื้อโคดิบ นั้น เบื้องต้นได้กำชับกับทางกรมปศุสัตว์ ให้ทางหน่วยงานจะต้องลงพื้นที่เข้าไปตรวจอย่างเข้มงวด ล่าสุดได้มีการปิดพื้นที่ ที่ต้องสงสัยว่ามีการระบาดไม่ให้โคกระบือไปกินหญ้าร่วมกันในพื้นที่ใหญ่ ห้ามคนเข้าออก และ มีการเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มโค กระบือในพื้นที่นั้นเช่นกัน รวมถึงสั่งไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าทางกรมปศุสัตว์สามารถควบคุมเอาอยู่ได้ และทางกระทรวงเกษตรกรฯ ไม่กังวลเรื่องของผลกระทบต่างๆที่อาจจะตามมา เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ระดับอำเภอ และ จังหวัด ทุกหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการสั่งการทางกรมปศุสัตว์ไปแล้วว่าเคสโรคระบาดนี้ที่เกิดขึ้นต้องเอาอยู่และที่สำคัญต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ค้าของไทยว่า โรคแอนแทรกซ์ ไม่สามารถกระทบต่อผู้เลี้ยงโคของประเทศไทยได้
ปิดพื้นที่ไว้ระยะทาง 5 กิโลเมตร รวมถึงฉีดวัคซีนให้โค กระบือในบริเวณนั้นทุกตัว ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หรือ พบโค กระบือไทยติดเชื้อเพิ่มอีก ตนจะลงพื้นที่ไปเอง
“ตอนนี้ เท่าที่ได้รับรายงานยังควบคุมได้ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่าวิตก ถ้าสถานการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้ผมจะลงไปดูเอง ให้มั่นใจว่าทางกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจเรารีบดำเนินการ เข้าไปตรวจสอบแล้วทันทีมีพบว่ามีผู้ติดเชื้อและตอนนีีก็ยังพบผู้เสียชีวิตเพียง1ราย และรักษาตัวอยู่อีก1ราย ไม่มีการตายเพิ่มส่วน ส่วนที่มาของโรคอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าผู้ที่เสียชีวิตติดเชื้อมาจากที่ใด เนื่องจากใน พื้นที่ไม่มีรายงานว่ามีโคที่เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว นายอิทธิ กล่าว
นายอิทธิ บอกด้วยว่า ล่าสุดได้สั่งการให้มีการปิดกั้นพื้นที่ตามแนวชายแดนทั้งหมด โดยให้มีการตรวจโรคสัตว์อย่างละเอียด พร้อม ทั้งตรวจสอบ กักกันสัตว์ตามสนามบินและท่าเรือทุกด่านเพื่อป้องกัน โรคแอนแทรกซ์ที่จะหลุดรอดเข้ามาด้วยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ และ กรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุที่เกิดขึ้น และได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างละเอียด และติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง รวมถึงขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์เข้าถึงการตรวจสุขภาพสัตว์กับผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น และ เป็นการช่วยเลี่ยงการระบาดของโรค
ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ทางกรมปศุสัตว์ ได้มีการประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อตรวจสอบร่วมกัน โดยพบว่า ข้อมูลเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 1 ราย เท่านั้น ในขณะพื้นที่โดยรอบที่พบผู้ป่วยก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเก็บหลักฐานเพื่อนำไป ตรวจสอบคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นอกจากนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปจัดวัคซีนวัว 1,200 ตัวในพื้นที่เพื่อป้องกันใน รวมทั้งสั่งห้ามมีการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่เด็ดขาด
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในขณะนี้พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคแอนแทรกซ์ที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาล และย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลมุกดาหาร ด้วยอาการมีแผลที่มือขวา ต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ขวา ผู้ป่วยมีประวัติชำแหละและรับประทานเนื้อโคดิบ โดยแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้น คือ septic shock และต่อมา ได้รับผลทางห้องปฏิบัติการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน โดยโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus anthracis) สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนเข้าไป เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมสร้างสารพิษทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ในระหว่างสัตว์ป่วยเชื้อถูกขับออกมากับอุจจาระปัสสาวะหรือน้ำนม เมื่อทำการเปิดผ่าซากเชื้อสัมผัสกับอากาศจะสร้างสปอร์ทำให้คงทน ในสภาพแวดล้อมได้นาน โค กระบือ แพะ แกะ ที่ป่วยมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ สัตว์ป่วยจะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ ซากไม่แข็งตัว สำหรับคนที่ทำการผ่าซากหรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วย
ด้วยโรคนี้ แบบสุกๆ ดิบๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้องโรคนี้ทำให้คนตายได้หากตรวจพบโรคช้า
สถานการณ์ ณ ปัจจุบันจากการเฝ้าระวังและค้นหาโรค ยังไม่พบสัตว์ป่วยตายผิดปกติในพื้นที่ โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง ได้แก่ เนื้อแห้ง หนังแห้งของสุกรและโค เนื้อสัตว์และเลือดที่อยู่บนเขียงที่ใช้ในการชําแหละ อุจจาระโคเพื่อส่งตรวจหาเชื้อที่ศูนย์วิจัยและและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยมีแนวทางดังนี้
1. กักและสังเกตอาการสัตว์ภายในฝูง ร่วมกับฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่ม penicillin อย่างน้อย 3-5 วัน
2. ขอความร่วมมือห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกในพื้นที่
3. งดนำโคไปเลี้ยงในพื้นที่แปลงหญ้า / แหล่งน้ำ หรือบริเวณที่สงสัย
4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ภายในตำบล
5. การทำลายเชื้อด้วยโซดาไฟในพื้นที่ชำแหละสัตว์ 3 จุด ได้แก่ บ้านเหล่าหมี 2 จุด และบ้านโคกสว่าง
1 จุด ทั้งนี้ ให้ทำลายเชื้อบริเวณจุดเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ที่เชือด ท่อน้ำทิ้ง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแต่งกายให้รัดกุม โดยการใส่ชุดป้องกันโรค มาส์กและถุงมือ
6. เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างในสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เช่น ดินบริเวณคอกสัตว์ เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนเชื้อ
7. ดำเนินการเฝ้าระวังสัตว์ป่วยในพื้นที่อำเภอดอนตาล
8. ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้เกษตรกรให้สังเกตอาการสัตว์เลี้ยง โดยมีนิยาม คือ โค กระบือ แพะ แกะตายเฉียบพลัน เลือดไหลออกจากปาก จมูก ทวารหนัก เลือดมีลักษณะไม่แข็งตัว หากพบมีอาการดังกล่าว
ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และมีการเฝ้าระวังโรคร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
9. เน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน งดบริโภคเนื้อดิบ
"ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะแกะ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน ห้ามเปิดผ่าซาก ห้ามเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภค ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือ ผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที