ถอดปม “มอก. เหล็ก ซิน เคอ หยวน”
ท่านได้ .... ใครให้มา ..???
จับตา “เอกนัฏ” ตามจิก “สุดซอย” ..?
เรื่องราวของ “ตึก สตง.ถล่ม” ยังคงเป็นหนังเรื่องยาวต่อไปแน่นๆ เพราะนอกจากการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้ตึกต้องถล่ม ที่ “ดีเอสไอ” ต้องลากกระบวนการตั้งแต่ต้นทั้งหมดมาให้ข้อมูลแล้ว
อีกด้านหนึ่งที่กำลังเร่งตรวจสอบไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของ “เหล็ก” เพราะหลังจากตึกถล่ม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งคนเข้าเก็บตัวอย่าง และพบบางชิ้นส่วน “ไม่ได้มาตรฐาน”
อึ้ง .... เพราะเหล็กที่พบนั้น มาจากโรงงานของ “บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY)” ที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 หลังเกิดเหตุไฟไหม้ในโรงงานที่ จ.ระยอง
ร้อน ... ถึงเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมที่ชื่อ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รีบเปิดเกมรุกตรวจสอบต่อเนื่อง บุกโรงงานพบความไม่ชอบมาพากลเพิ่มอีก มี “ฝุ่นแดง” เก็บไว้ในครอบครองอย่างมีเงื่อนงำ รวมถึงตรวจพบอีก 2 โรงงานจีน มีการลักลอบผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน
และปมปัญหาก็ผุดขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญต่อความไม่ชอบมาพากล ก็คือ ....
เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้น ล้วนมาจากกระบวนการเตาหลอมผลิตแบบ “Induction Furnace หรือ เตา IF” ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเตาหลอมที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมีการเลิกใช้ไปแล้ว
แต่ทำไมประเทศไทยกลับปล่อยให้มีการผลิตในกระบวนการนี้ ..!!!??
ขณะที่มีรายงานข่าวระบุว่า หากแกะรอยย้อนกลับไปกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ‘ซิน เคอ หยวน’ หรือ SKY และโรงงานเหล็กทุนจีน พาเหรดเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยย้ายฐานการผลิตมาจากจีน เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งสั่งห้ามใช้เหล็กประเภทนี้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในจีน ในราวปี 2558 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาล คสช. ของอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย จึงเปิดประตูให้ทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กเพื่อการส่งออก และก็ได้โอกาสจำหน่ายในประเทศในเวลาต่อมา
ทุนจีนที่รุกเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กส่วนใหญ่จะใช้เตาหลอมแบบ IF ทำให้เกิดคำถามมาตลอดว่า ‘ทำไมกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย จึงอนุญาตให้นำเตาหลอมแบบเก่านี้มาใช้ได้’ และถูกต่อต้านจากกลุ่มโรงหลอมแบบ Electric Arc Furnace หรือ EF มายาวนานในประเทศไทยและมีคุณภาพดีกว่า เนื่องจากตุ้นทุนการผลิตของโรงงานที่ใช้เตาหลอมแบบ IF จะมีราคาต่ำกว่า และทำให้สามารถรุกเข้ามากินตลาดก่อสร้างในไทยได้อย่างรวดเร็ว รายงานข่าวดังกล่าว ระบุ พร้อมบอกด้วยว่า
เวลานั้น กลุ่มโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบ EF ออกมาคัดค้านอย่างหนัก ถึงขั้นมีการยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครอง ที่อนุญาตให้เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาหลอมในแบบ IF สามารถขายในประเทศได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.
ในที่สุดมีการเจรจาหาทางออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้กลุ่มโรงเหล็กแบบ EF ‘ถอนฟ้อง’จากศาลปกครอง และมีการกำหนดให้โรงเหล็กแบบ IF ต้องผลิตเหล็กที่ได้รับการรับรอง มอก. ในปี 2559
โดยการกำหนดค่ามาตรฐานของธาตุต่างๆ ที่จะใช้เจือปนไปในเหล็กทั้ง 2 ชนิดว่า ต้องมีค่าไม่เกินเท่าไหร่ เช่น ต้องมีส่วนผสมของโบรอน น้อยกว่า 0.0008% นิกเกิล น้อยกว่า 0.3% โครเมียม น้อยกว่า 0.3% ซิลิคอน น้อยกว่า 0.6% และทองแดง น้อยกว่า 0.4% เพื่อควบคุมคุณภาพของเหล็กที่มาจากเตาหลอมแบบ IF
รายงานข่าวเดียวกันนี้ ยังบอกอีกว่า การพังทลายของโรงเหล็กแบบ EF จึงเริ่มต้นขึ้น จาก ‘สงครามตัดราคาขาย’ ของกลุ่มโรงเหล็กทุนจีน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และสามารถกินส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เนื่องจากได้รับรอง มอก.เช่นเดียวกัน
แต่ปัญหาใหม่ก็ตามมา เมื่อโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบ IF มีการนำเตาหลอมที่ใช้เครื่องจักรเก่า ด้อยคุณภาพจากจีนเข้ามา และบางรายยังมีการนำส่วนผสมของ ‘โบรอน’ ที่เป็นธาตุกึ่งโลหะ ที่เป็นทั้งโลหะและอโลหะไปผสมในสัดส่วนมากกว่าที่กำหนด เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำให้ความแข็งของเหล็กเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีการใช้ผสมมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย คือทำให้ ‘แข็งนอก อ่อนใน’ มีสภาพ ‘เปราะ’ หักได้ง่าย รายงานข่าวเดียวกันนี้ ระบุ
นั่นจึงน่าจะเป็นที่มา ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ลงนามในคำสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนให้ “ยกเลิกการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็ก (มอก.เหล็ก) ที่ผลิตโดยกระบวนการเตาหลอม Induction Furnace หรือ เตา IF”
โดยเชื่อว่า เป็นเทคโนโลยีเตาระบบเปิดที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก สร้างมลพิษฝุ่นและแก๊สพิษจากการผลิตเหล็ก อีกทั้งกระบวนการผลิตของเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหล็กที่ผลิตออกมาให้สม่ำเสมอได้
นายเอกนัฏ ระบุว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออก มอก.20-2543 (แก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต-เหล็กเส้นกลม) มอก.24-2548 เพื่อรองรับให้มีการใช้เตาหลอม IF ในการผลิตเหล็กข้ออ้อยมาตั้งแต่ปี 2559
ทำให้บริษัทที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF อย่าง บริษัท ซิน เคอ หยวน ได้รับ มอก.มาตั้งแต่ปี 2561 ....!!!
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการของกระทรวงฯ เข้าตรวจสอบมาตรฐาน มอก.โรงงานผลิตเหล็กเตาหลอม IF หลายแห่ง ปรากฏว่าเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ขอไว้ จึงเกิดการอายัดห้ามผลิตและจำหน่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงงานที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา นายเอกนัฏ ยังรุกคืบอีกก้าว หลัง 6 กรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรม (กมอ.) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเดิมหมดวาระ จึงส่งชุดใหม่ที่ไม่ติดกับรากเหง้าเดิมๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน
กล่าวคือ นายเอกนัฏ ได้มอบนโยบายเบื้องต้นในการคัดเลือกกรรมการใหม่ว่า นอกเหนือจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ และไม่มีประวัติด่างพร้อยแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจโจทย์และภารกิจสำคัญในการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงภารกิจการปราบอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างถอนรากถอนโคน
ซึ่ง กมอ.ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ด้วยบทบาทในการกำหนดมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ….
โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น (IF) ที่ รมว.อุตสาหกรรม มีข้อสั่งการให้ กมอ.พิจารณาทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็กเส้น IF เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่า กระบวนการผลิตเหล็กโดยเตาหลอมแบบ IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้ อีกทั้งยังพบปัญหาในการกำจัดสารเจือปน และสิ่งแปลกปลอมที่มากับเศษเหล็ก สร้างมลพิษฝุ่น และแก๊สพิษจากกระบวนการผลิต
แต่กลับยังมีการรับรองเหล็ก IF มาจนถึงปัจจุบัน ...!!!!
ทั้งที่ในความเป็นจริง ก็พบปัญหาและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเหล็ก IF มาตลอดเกือบ 10 ปี ตั้งแต่มีการรับรองเตาหลอม IF เมื่อปี 2559 กระทั่งมาเกิดโศกนาฏกรรมอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักรถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ซึ่งตรวจสอบพบเหล็กเส้น IF ในซากอาคารจำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า กรณีที่ กมอ.ชุดที่ผ่านๆ มา ไม่มีการทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ทั้งที่พบปัญหามาตลอด รวมถึงมีกรณีปล่อยปละละเลยการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
เป็นเหตุผลสำคัญที่ในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดใหม่ทั้ง 6 รายในครั้งนี้ ปราศจากตัวแทนจาก สมอ. ซึ่งถือเป็นขาประจำของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. จนถูกมองเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดก่อน 6 รายที่หมดวาระไปนั้น มีถึง 3 รายที่เป็นอดีตเลขาธิการ สมอ.
จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจส่งผลให้การพิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของ กมอ.บางครั้งไม่ได้ใช้ดุลยพินิจประกอบข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ
เนื่องจากเห็นว่า บางเรื่องได้ผ่านการพิจารณาของ กมอ.ชุดก่อนๆ ซึ่งมีอดีตเลขาธิการ สมอ.ที่อาวุโสกว่าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.พิจารณามาแล้ว หรืออาจเป็นประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคลากรที่เติบโตและรับราชการใน สมอ.มาด้วยกันจนเกิดความเกรงใจ ตลอดจนอาจมีเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ มาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา นายเอกนัฏ กล่าวในการตอบโต้ตัวแทนบริษัท ซิน เคอ หยวน ไว้ตอนหนึ่งว่า “ขณะนี้ตนจะตรวจสอบย้อนหลังไปให้ถึงปี 2561 ว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน ได้ มอก. มาอย่างถูกต้องหรือไม่” ...!!??
ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้น พบว่าช่วงปี 2559 ที่มีการรับรองเตาหลอม IF คือสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคาบเกี่ยวอยู่ 2 คน คือ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ดำรงตำแหน่ง 19 ส.ค. 2558 – 15 ธ.ค. 2559 อีกคนคือ นายอุตตม สาวนายน ดำรงตำแหน่ง 16 ธ.ค. 2559 – 29 ม.ค. 2562
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - นายอาทิตย์ วุฒิคะโร 1 ต.ค. 2558 – 30 ก.ย. 2559 ดร.สมชาย หาญหิรัญ 1 ต.ค. 2559 - 30 ก.ย. 2560 ดร.พสุ โลหารชุน 1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2562
ขณะที่ ซิน เคอ หยวน ได้รับ มอก. ในปี 2561 มีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) คือ นายณัฐพล รังสิตพล (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน) 1 ต.ค. 2560 – 30 มิ.ย. 2561 และนายอภิจิณ โชติกเสถียร (รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน) 25 ก.ค. 2561 – 30 ก.ย. 2561
เริ่มต้นง่ายๆ รัฐมนตรี “เอกนัฎ” ถาม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบันก่อนได้เลย “รู้เรื่องราวเหล่านี้บ้างไหม ....”
จะถึงขั้นตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันแบบ “สุดซอย” กันไปเลยก็ว่าไป
แต่อย่าเผลอไปตั้ง ....... เข้ามาเป็นกรรมการตรวจสอบ เรื่องจะโอละพ่อเอาได้ ....