นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาภาคเกษตรในประเทศไทย มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตร อาทิ การทำเกษตรแบบแม่นยำ, ระบบอัตโนมัติในฟาร์ม, การทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือจากภาคเอกชน อีกทั้งกระแสเศรษฐกิจโลก ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการคิดค้นวิจัยและพัฒนา ใช้เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่เพิ่มมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) นับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการทำธุรกิจมากขึ้น
“การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงโดรนเพื่อการเกษตรจะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนเกม ที่ช่วยเกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่ยุคเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) อย่างแท้จริง ด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย โดรนจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า จากข้อมูล Fortune Business Insights ปี 2567 มูลค่าตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ของโลกอยู่ที่ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตจาก 5.8 แสนล้านบาท เป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2575 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 20.8% ในช่วงปี 2568 – 2575 และสำหรับโดรนเพื่อการเกษตรทั่วโลกมีมูลค่าราว 1.6 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเติบโตจาก 2 แสนล้านบาทในปี 2567 เป็น 798 ล้านล้านบาท ในปี 2575 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 18.5% ในประเทศที่การเกษตรมีความก้าวหน้าสูง
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า ในอนาคต โดรนจะมีราคาถูก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ช่วยลดข้อจำกัดของการทำงานในต้นพืชที่มีความสูง การให้ปุ๋ยทางใบ ทำให้พืชสามารถดูดซึมอาหารผ่านปากใบได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านราก ทำได้ในเวลารวดเร็ว ลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่เกษตรกรอาจได้รับทั้งการสัมผัสและสูดดมขณะฉีดพ่น รวมถึงการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ดินและคาดการณ์เวลาการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ ด้วยสมรรถนะที่สูงขึ้นสามารถสร้างแผนที่ในรูปแบบสามมิติ (3D Mapping) ทำให้สามารถวิเคราะห์ และวางแผนในการเพาะปลูกได้
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยโดรนเพื่อการเกษตรเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในปี 2563 เพื่อช่วยทำการเกษตรแบบแม่นยำขึ้น อาทิ การรดน้ำ การให้ฮอร์โมน การให้ปุ๋ยทางใบ ซึ่งประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานคน และด้วยสมรรถนะสูงของโดรนยังใช้ในการทำงานอื่นๆ อาทิ ถ่ายภาพเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคพืช ทำให้ดูแลรักษาโรคพืชได้อย่างตรงจุด การใช้โดรนมาฉีดพ่นยาเพื่อรักษาโรคพืชเฉพาะตำแหน่งได้อย่างแม่นยำมากขึ้น สามารถฉีดพ่นแปลงพืชไร่ ลดการใช้แรงงานคนจาก 10-20 คนเหลือเพียง 1-2 คน เท่านั้น แต่ราคาของโดรนยังสูง ทำให้เกษตรกรยังไม่สามารถประเมินจุดคุ้มทุนได้ และเลือกเป็นการใช้บริการจากผู้ให้บริการมากกว่า
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินนโยบาย
ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เพื่อหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จัดการด้านการตลาด เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ให้นำเทคโนโลยี อาทิ โดรนเพื่อการเกษตร เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีโดรนเพื่อการเกษตร มาใช้ทำการเกษตร จำนวน 546 แปลง เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 34,000 ราย โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรที่ใช้โดรนในกลุ่มแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตกว่า 1,100 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรในการทำการเกษตรยังมีจำนวนน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เกษตรกรรายย่อยอาจเข้าไม่ถึงเนื่องจากปัจจัยความพร้อม ศักยภาพของเกษตรกรที่มีความแตกต่างกันสูง ทั้งด้านความรู้และทุนทรัพย์ การถือครองสิทธิที่ดิน และที่สำคัญคือทัศนคติของเกษตรกรที่พร้อมจะเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนการทำเกษตรของไทย จึงมีรูปแบบการทำเกษตรที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มอาจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน แต่บางกลุ่มที่มีพื้นที่ขนาดเล็กยังทำเกษตรแบบดั้งเดิม โดยขึ้นกับความพร้อมของเกษตรกรเป็นหลัก