“มนพร” เผยคืบหน้า “แลนด์บริดจ์” เตรียมเสนอ พรบ.SEC เข้า ครม.ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเสนอบรรจุวาระแรก ถกประชุมสภา 3 ก.ค.2568 พร้อมลุยขั้นตอนประกวดราคาปลายปีนี้
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) โดยระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะขับเคลื่อนได้จำเป็นต้องมีกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลอยู่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ….. (พรบ. SEC) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมซึ่งได้รับมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการจัดทำ พรบ.SEC คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและร่าง พรบ.SEC ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอไปยัง ครม.พิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะเริ่มเปิดประชุมสามัญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ และคาดว่ากระบวนการพิจารณาเหล่านี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ผลักดันให้สามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา โดยร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ในเดือน ธ.ค.2568
“เนื่องด้วย พรบ.SEC เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ จึงคาดว่าจะไม่ได้มีการแตกประเด็นที่กว้างมาก และอาจไม่ได้ใช้เวลาในกระบวนการพิจารณามากนัก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงคาดว่า พรบ.SEC จะได้รับการพิจารณาเห็นชอบ และทำให้โครงการเดินหน้าประกวดราคา เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ตามเป้าหมายกำหนด”
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังกำหนดกรอบการดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยประเมินว่าการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2569 และคัดเลือกผู้ลงทุนเสร็จไตรมาส 2 ปี 2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในไตรมาส 2 ปี 2569 พร้อมลงนามสัญญากับเอกชนร่วมลงทุน โดยคาดการณ์ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปี 2569 เสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2573
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นส่วนของร่าง พรบ.SEC ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคมและ สนข. ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นราว 9,000 คน ซึ่งพบว่ากว่า 8,000 คนเห็นด้วยกับการพัฒนา พรบ.SEC และแลนด์บริดจ์ โดยมีประชาชนราว 700 คนที่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ ข้อกังวลเกี่ยวกับการจ้างงานในพื้นที่ ข้อกังวลเกี่ยวกับการชดเชยผลกระทบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สนข.มีการศึกษารองรับแล้ว
สำหรับปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ ได้ออกแบบสิ่งแวดล้อมเกือบแล้วเสร็จ อยู่ในช่วงการออก พรบ.SEC เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทั้ง 4 จังหวัดและแลนด์บริดจ์ ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการทำเอกสารประกวดราคา โดยคาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในปีหน้า และได้ตัวเอกชนในปี 2569 แล้วเสร็จปี 2573 ซึ่งโครงการนี้จะประกวดราคาเป็นสัญญาเดียว ได้สิทธิดำเนินโครงการ 3 ส่วนทั้งท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และรถไฟ
โดยเอกชนสามารถร่วมกลุ่มพันธมิตรกิจการร่วมค้าเข้าร่วมประมูล เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนระยะที่ 1 จะมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท จากผลการศึกษาของโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท , โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท , โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) 1.4 แสนล้านบาท และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่จะประกวดราคาครั้งเดียวเพราะต้องการให้เกิดการบูรณาการ เนื่องจากต้องการให้ทุกโครงการโครวงสร้างพื้นฐานสามารถเชื่อมโยงกันได้ ผู้ประกอบการรายเดียวเข้ามาบริหาร ก็จะสามารถจัดการท่าเรือ เชื่อมต่อสินค้าไปที่รถไฟ หรือมอเตอร์เวย์ได้ทันที เป็นการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ซึ่งโครงการนี้จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนไทย และเข้ามาลงทุนได้ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
“กระแสขายชาติ ขอชี้แจงว่าการเวนคืนที่ดินพัฒนาโครงการจะทำโดยรัฐบาล ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐทั้งหมด เป็นของคนไทย ไม่ได้ยกให้ใคร เพียงแต่ประมูลให้ต่างชาติมาลงทุน ก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้ และพื้นที่ที่เหลือก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มอื่นมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งมองโอกาสเป็นประเภทสินค้าเกษตร สินค้าประมง สิ่งเหล่านี้จะต่อยอดอุตสาหกรรมและส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการลงทุนนี้ก้จะไม่จำกัดนักลงทุนเป็นไทยหรือต่างชาติ แต่ต้องให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น”
นายตริน พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จุดยุทธศาสตร์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน และขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีการค้าน้ำมันระหว่างอ่าวมะละกา ทั้งส่วนของน้ำมันสุกและน้ำมันดิบ แต่จะมีการค้าขายได้ต้องผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้นถ้าจะมีแลนด์บริดจ์ขึ้นมา ในฐานะภาคเอกชนอยากให้มีการพัฒนาเพื่อรองรับค้าขายน้ำมันทั้งสองฝั่งด้วย เพื่อรับดีมานด์ส่วนนี้ รวมทั้งอยากให้เรียนรู้จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และให้ทำงานร่วมกันคนไทย ธุรกิจของคนไทยได้ด้วย
นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดชุมพร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพัฒนา พรบ.SEC และเห็นด้วยที่ต้องพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนปัญหาเขตอำเภอพะโต๊ะที่มีข้อกังวลเรื่องเขตอุตสาหกรรม ก็มองว่าเรื่องนี้ต้องชี้แจงและชดเชยชาวบ้าน โดยเฉพาะเขตป้าไม้ที่ประชาชนได้ปลูกแล้วก็ควรให้สิทธิชดเชยเจรจาให้เหมาะสม ส่วนเขตนิคมอุตสาหกรรมที่อาจจะพัฒนาในอนาคตก็ให้จัดพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำก็ขอเสนอแนะให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เชื่อว่าหากแก้ปัญหาเหล่านี้จะตอบโจทย์ประชาชน