เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 22 เมษายน 2568 ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศจังหวัดสมุทรสาคร ณ ท่าเทียบเรือประมง โครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้าน ตำบลพันท้ายนรสิงห์ (บริเวณ อ.บ.ต. พันท้ายนรสิงห์เดิม) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายบุญชู ถาดทอง ปลัดเทศบาลเมืองพันท้ายนรสิงห์ฯ ผู้มีเกียรติ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตลอดจนผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตามที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ภายใต้แผนปฏิบัติการดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำของกรมประมง ทั้งหมด 7 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด,มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง,มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์,มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน,มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ,มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ และ มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยจังหวัดสมุทรสาคร มีการกำจัดปลาหมอคางดำแล้ว จำนวน 1,937,998 กิโลกรัม
ทั้งนี้ในส่วนของการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศจังหวัดสมุทรสาคร ที่จัดขึ้นนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครกับเทศบาลเมืองพันท้ายนรสิงห์ ตามมาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนมาตรการและแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ,เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่
ด้าน ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ด้วยนโยบายและมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อย ขณะที่การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามมาตรการที่ 7 ว่าด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายลงสู่แหล่งน้ำ อันจะช่วยเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งเป็นการสร้างสมดุลให้สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ตลอดจนยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการฟื้นฟู แหล่งน้ำให้อุดมสมบูรณ์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านให้ยั่งยืนเป็นการส่งต่อมรดกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกทางหนึ่งด้วย