ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ช่วยให้ ปชช.เข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์
29 เม.ย. 2567

                ปัจจุบันนวัตกรรมการแพทย์ช่วยให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การใช้บริการนี้มีค่าใช้จ่ายสูง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการรักษาโรคที่มีภาวะซับซ้อนและรุนแรง

ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ตามแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol CA) ที่เป็นมาตรฐานปัจจุบัน ประกอบกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รุกนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” 1 ใน 10 ของการดำเนินการ Quick win หลากหลายนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง จึงได้ถูกเพิ่มเติมในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองฯ  เริ่มตั้งแต่ “การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์” นำร่องการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม คือ 1.มะเร็งต่อมลูกหมาก 2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และ 3.มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี ด้วยการผ่าตัดรักษาที่มีความแม่นยำและความปลอดภัย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ประมาณว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีนี้ จำนวน 600 รายต่อปี

                รวมทั้งการรักษาด้วยนวัตกรรมการแพทย์ขั้นสูง เช่น “การฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา” (Plaque brachytherapy) ซึ่งขณะนี้มีเพียงโรงพยาบาลรามาธิบดีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ให้การรักษาได้ เพื่อยับยั้งไม่ให้โรครุกลามเป็นมะเร็งที่ตาและสูญเสียดวงตา เน้นรักษาผู้ป่วยระยะเริ่มแรกและมีเนื้องอกไม่ใหญ่เกินไป เช่นเดียวกับ “การรักษาด้วยรังสีโปรตอนในผู้ป่วยมะเร็ง” ซึ่งศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้การรักษาด้วยเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ลดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม โดยทั้งสองกรณีนี้ เป็นข้อเสนอจากสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

สปสช.ยังได้บรรจุยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง เฉพาะจุดชัดเจน ซึ่งมีราคาแพง ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ไว้ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองฯ อาทิ ยาไรโบไซคลิบ (Ribociclib) รักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ที่ได้เพิ่มเติมเป็นรายการยาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 นี้ ขณะที่ตั้งแต่ปี 2558 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติการใช้ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ยารักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีความคุ้มค่าเพราะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยจาก 9.11 ปี เป็น 14.12 ปี และในปี 2561 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติการใช้ยา Monoclonal antibody แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอน ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma : NHL) ชนิด diffused large B-cell lymphoma หรือ DLBCL ที่มีเป้า CD 20 เป็นบวก ซึ่งจะช่วยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ ที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและที่สำคัญคือมะเร็งชนิดนี้สามารถหายขาดได้

                สปสช.ยังได้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์และสนับสนุนการให้บริการนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นของโรคมะเร็งในผู้หญิง นั่นคือ “ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง” เพื่อลดอัตราการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต การตรวจคัดกรองจึงเป็นมาตรการที่สำคัญ โดยกระจายให้กับผู้หญิงไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง  

                อีกทั้งยังมีนวัตกรรม “ชุดตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง” ทำให้ผู้ที่รู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถตรวจเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง นอกจากเป็นการลดความเครียดกังวลแล้ว ยังทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่การดูแลรักษาได้โดยเร็ว และการลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ สปสช.อยู่ในช่วงการเตรียมระบบเพื่อสนับสนุนการให้บริการ

ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการวางระบบเพื่อสนับสนุนการให้บริการ “ชุดตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยตนเอง” เนื่องจากประเทศไทยมีป่วยมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบผู้ป่วยมากในแถบภาคอีสาน สาเหตุจากพยาธิใบไม้ตับ ชุดตรวจคัดกรองฯ นี้ เป็นส่วนที่ช่วยค้นหาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนลุกลามสู่โรคมะเร็ง ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่ 30 จังหวัดเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ตั้งเป้าหมายลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับให้น้อยกว่า 1% ภายในปี 2568 และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีลง 2 ใน 3 ในปี 2578

                สปสช.ยังให้ความสำคัญกับวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนำมาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ ไม่ว่าจะเป็น “รากฟันเทียม” “ถุงทวารเทียม” และ “กะโหลกเทียมไทเทเนียม” เนื่องจากมีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียม ไม่แตกต่างจากการนำเข้าจากต่างประเทศ

                ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่ สปสช. เพิ่มเติมรายการเบิกจ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการ “ยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...