ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ มุ่งพัฒนา Big Data ด้านการเกษตร
06 พ.ค. 2566

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ” (National Agricultural Big Data Center: NABC) ขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เพื่อรองรับการดำเนินการด้าน Big Data โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลด้านเกษตร และการให้บริการกับทุกภาคส่วน NABC จึงนับเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ มีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางการเกษตร  ตลอดจนศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ในทุกระดับ และสร้างเครือข่ายข้อมูลเกษตรขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ

ตลอดระยะเวลา 3 ปี NABC ได้ดำเนินการ “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ตลอดโซ่อุปทานจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) นำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ 5 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน คือ การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ ที่ MOU ร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานในต่างประเทศ ในรูปแบบ Open Data ตามมาตรฐานของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) โดยในปัจจุบัน มีข้อมูลทั้งสิ้นจำนวน 1,064 ชุดข้อมูล 2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) คือ การใช้เครื่องมือ Big Data Analytics และ Big Data Modeling นำมาประยุกต์ใช้งานจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่ 3) ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร คือ ระบบสำหรับการบันทึก และนำเข้าข้อมูล  การผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในระดับพื้นที่ 4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP) คือ ระบบการให้บริการความรู้ด้านการเพาะปลูก และการทำการเกษตรที่ถูกต้องแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป และ 5) ระบบ Public AI คือ ระบบการให้บริการข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตร เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับเกษตรกรในการทำกิจกรรมทางการเกษตร

นอกจากนี้ ยังเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ การทำงานภายใต้โครงการเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ดำเนินการรูปแบบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูล และจัดทำ Dashboard สินค้าเกษตรสำคัญ 12 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ กุ้งขาว สับปะรด ถั่วเหลือง ไก่ไข่ และโคนม ซึ่งแสดงในหน้าเว็บไซต์ www.คิดค้า.com และ www.nabc.go.th รวมถึงเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ (www.moc.go.th และ data.moc.go.th) อีกทั้ง NABC ยังได้จัดทำระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัด และระบบคาดการณ์ผลผลิตอันเป็นความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีหน่วยงานสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ GISTDA  ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปี 2565 สศก. จึงได้รับโอกาสเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับรางวัล “Excellent Open Data Hub” ตามโครงการ DIGI DATA AWARDS 2022 จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่เปิดเผยชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ ภายใต้แนวคิด “Data Driven Organization” โดยเป็นการเปิดเผยชุดข้อมูลที่ภาครัฐได้จัดเก็บและรวบรวมไว้นำมาเผยแพร่ให้กับประชาชน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพิ่มความคล่องตัวในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

สำหรับในปี 2566 ก้าวสู่ปีที่ 4 ของ NABC ทาง สศก. จะเดินหน้าพัฒนา Big Data ด้านการเกษตร โดยจัดทำ Big Data ระดับจังหวัด ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 (สศท. 1-12) เพื่อเป็นการขยายการเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูล และจัดทำรายงานข้อมูลด้านการเกษตรระดับจังหวัด อีกทั้งยังมีโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้นโยบายและมาตรการทางการเกษตร รวมไปถึงโครงการจัดทำระบบวิเคราะห์ผลกระทบและเตือนภัยเศรษฐกิจพืชเศรษฐกิจหลักแบบอัตโนมัติ โดยมีการกำหนด Road Map ที่วางไว้ ทั้งระยะสั้น Data Quality & Literacy ระยะกลาง Data Service Platform และระยะยาว Customer & Citizen Centric

ทั้งนี้ สศก. ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ NABC ด้วยดีตลอดมา   และแน่นอนว่า NABC มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจ มุ่งพัฒนา Big Data ด้านการเกษตร เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตรไทย ให้ภาคเกษตรก้าวสู่เกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...