ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ประวิตรสั่งเพิกถอน4ป่าแห่งชาติทับซ้อนชาวบ้านอยู่มาก่อน
19 เม.ย. 2566

ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ (คปช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ได้รับมอบหมายจาก รมว.ทส. ให้ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการในการประชุมครั้งนี้

พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายจตุพร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องที่เสนอเพื่อพิจารณา รวม 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่งเห็นชอบการทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติทุก 3 ปี ซึ่งนโยบายป่าไม้แห่งชาติได้รับความเห็นชอบ

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 จึงครบกำหนดที่ต้องมีการทบทวนตามระเบียบดังกล่าว ดังนั้น ทางคณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติได้มีการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติ รวม 3 ครั้ง

 “สำหรับผลการทบทวน พบว่า นโยบายป่าไม้แห่งชาติยังเป็นนโยบายที่มีความท้าทายในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ภายใต้ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขด้านนโยบาย กฎหมาย สถานการณ์และบริบทต่างๆ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ

โดยให้คงวัตถุประสงค์ของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 4 ประการ บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 24 ข้อ ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจัดการป่าไม้ 2. ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ 3. ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ ไว้เช่นเดิม จากนั้น ได้มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป” นายจตุพร กล่าว

เรื่องที่สอง ที่ประชุมได้เห็นชอบการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี บางส่วน ในท้องที่ตำบลบ่อนอก ตำบลอ่าวน้อย ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ ตำบลห้วยทราย อำเภอเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายจตุพร กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อปี 2552 ได้เกิดกรณีที่สมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่สามารถนำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ หรือ น.ค.3 ไปออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี จึงได้มีการร้องเรียนผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงทรัพยากรฯ โดยกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบการทับซ้อนของพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พบว่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี ทับซ้อนพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ประมาณ 56,605 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา

จึงเห็นควรให้มีการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติบริเวณที่ทับซ้อนดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงมีมติให้ความเห็นชอบในการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี บางส่วนที่ทับซ้อนพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมมอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป”

นายจตุพร กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 3 ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ตาล และ ป่าแม่ยุย และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่หาด บางส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พ.ศ. 2512

โดยภายหลังการประกาศจัดตั้งนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2512 แล้ว แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ตาล และป่าแม่ยุย และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่หาด

ปลัด ทส. กล่าวต่อไปว่า จากที่กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันตรวจสอบการทับซ้อนของพื้นที่ พบว่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ตาล และป่าแม่ยุย ทับซ้อนกับพื้นที่นิคมสร้างตนเอง เนื้อที่ประมาณ 31,106 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ในกิจการนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล เนื้อที่ประมาณ 16,011 ไร่

เห็นควรให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติออกจากพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ส่วนพื้นที่ที่มีสภาพป่า เนื้อที่ประมาณ 15,096 ไร่ ให้กันไว้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยให้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมป่าไม้ต่อไป สำหรับป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่หาด ทับซ้อนกับพื้นที่นิคมสร้างตนเอง เนื้อที่ประมาณ 31,521 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ในกิจการนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล เนื้อที่ประมาณ 24,002 ไร่ เห็นควรให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติออกจากพื้นที่นิคมสร้างตนเอง และพื้นที่ที่มีสภาพป่า เนื้อที่ประมาณ 7,519 ไร่ ให้กันไว้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยให้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมป่าไม้ต่อไปเช่นกัน

“จากผลการประชุมในครั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องที่ต้องนำเสนอ ครม. เร่งนำความเห็นของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เสนอตามขั้นตอนต่อไปและให้นำสรุปผลการประชุมครั้งที่ 1/2566 เสนอต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบ พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นอย่างดี” นายจตุพร กล่าว

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...