ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ก.อุตฯเร่งแผนยานยนต์ไฟฟ้า-มาตรฐานยูโร6ชิงผู้นำยานยนต์อาเซียน
25 ธ.ค. 2565

กระทรวงอุตฯ เร่งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ดันมาตรฐานยูโร 6 สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รักษาตำแหน่งฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลกและอันดับ 1 ในอาเซียน คาดรถอีวีปี 66 ยอดขายแตะ 50,000 คัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับผลักดันยานยนต์ที่มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 (EURO 6) ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออกและการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน 

ดังนั้น อก. จึงมีนโยบายเร่งผลักดันอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ที่สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก และเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

รวมทั้งสอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพการผลิตให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกได้อย่างยั่งยืน

“การก้าวข้ามการพัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยูโร 4 ไปสู่ยูโร 6 ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด ช่วยสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ สร้างแต้มต่อในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค"

ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวอย่างจริงจังอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลก และอันดับ 1 ในอาเซียนได้

ขณะเดียวกันประเทศเวียดนามมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า VINFAST รวมทั้งประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศ และพยายามแย่งชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาค 

"ซึ่งหากประเทศไทยไม่ปรับตัว อาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ที่มีการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษที่สูงกว่า และในระยะยาวอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 650,000 คน” นายสุริยะ กล่าว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 มีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายสนับสนุนในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่สะอาด ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกจำเป็นต้องผลักดันนโยบายเพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำในการผลิตรถยนต์ระดับโลกเข้ามาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง 

โดยคาดว่าจากนี้ไปอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 คนต่อปี ภายในปี 2573 

ขณะเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ยังเป็นการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย 

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 ภายในประเทศ และส่งออก มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 มีการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกประมาณ 40,000 คันต่อปี 

ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ใน 10 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการจดทะเบียนรถ BEV ประมาณ 15,423 คัน และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...