ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ทล.อัด700ล้านสร้างทางเลี่ยงชะอำเลียบสู่ใต้
03 พ.ย. 2565

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้เร่งโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 37 สายเลี่ยงเมืองชะอำ ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โครงการดังกล่าวเป็นอีกโครงข่ายหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม โดดเด่น เป็นอัตลักษณ์ระดับนานาชาติ ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนและในช่วงวันหยุดเทศกาล

ผลการสำรวจข้อมูลปริมาณการจราจรปี พ.ศ. 2563 อยู่ในช่วง 29,000 คัน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 34,900 คัน/วัน ในปี พ.ศ. 2569 และเป็น 53,300 คัน/วัน ในปี พ.ศ. 2587 ประกอบกับปัจจุบันเส้นทางมีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 2 ช่องจราจร) รวมทั้งสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางตัดผ่านเป็นพื้นที่ราบ เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเมือง บางช่วงจะมีชุมชน สถานประกอบการและสถานที่ราชการอยู่บริเวณริมเขตทาง

สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงได้เร่งดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 37 สายเลี่ยงเมืองชะอำตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม

โดยโครงการดังกล่าวมีระยะทาง 47.348 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม. 0+000 โดยจุดเริ่มต้นโครงการจะแยกออกจากถนนเพชรเกษม บริเวณทางแยกต่างระดับชะอำมุ่งลงสู่ภาคใต้ (ด้านทิศตะวันตกของชะอำและหัวหิน) ผ่านห้วยตะแปด แยกช้างแทงกระจาด มหาวิทยาลัยศิลปากร แยกวัดห้วยมงคล ที่ว่าการอำเภอหัวหิน บรรจบถนนเพชรเกษม บริเวณทางแยกต่างระดับวังยาวที่ กม.47+348.260 จึงเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ

ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหินและอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รูปแบบทางหลวงของโครงการขยายทางเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) กว้าง 10.60 เมตร และติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ (Concrete Barrier) บริเวณขอบไหล่ทางด้านในทั้งสองฝั่ง

รูปแบบทางแยกต่างระดับตลอดเส้นทางโครงการมีทางแยกสำคัญที่ทางหลวงโครงการตัดกับถนนของกรมทางหลวงชนบทและถนนท้องถิ่น ซึ่งได้ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับจำนวน 6 แห่ง โดยรูปแบบเป็นทางลอดและวงเวียนทางกลับรถบริเวณใต้สะพาน

1) ทางแยกต่างระดับคลองชลประทานที่ กม.2+111.476 (จุดตัดถนนเลียบคลองชลประทาน)

2) ทางแยกต่างระดับห้วยตะแปดที่ กม.10+530.384 (จุดตัดทางหลวงชน บท พบ.1001)

3) ทางแยกต่างระดับช้างแทงกระจาดที่ กม.16+838.098 (จุดตัดทางหลวงชน บท พบ.1010)

4) ทางแยกต่างระดับมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ กม.19+450.735 (จุดตัดถนนท้องถิ่น)

5) ทางแยกต่างระดับที่ว่าการอำเภอหัวหินที่ กม.33+989.081 (จุดตัดทางหลวงชนบท ปช.2043)

6) ทางแยกต่างระดับหนองไผ่ที่ กม.39+173.753 (จุดตัดทางหลวงชนบท ปช.2030)

สำหรับการออกแบบจัดการจราจรท้องถิ่นและการกลับรถได้พิจารณาจากความต้องการในการใช้จุดกลับรถของประชาชนเป็นหลัก โดยมีรูปแบบจุดกลับรถและตำแหน่งจุดกลับรถ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบจุดกลับรถแบบสะพานบก เป็นการก่อสร้างสะพานบกบนทางหลวงโครงการให้ถนนท้องถิ่นลอดผ่านและกลับรถ ออกแบบให้มีความสูงเพียงพอที่รถประเภทต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย มีจำนวน 11 แห่ง คือ

1) กม.3+388.809 (หุบกะพง)

2) กม.5+000 (ถนนท้องถิ่นไปวัดหุบกะพง)

3) กม.6+600 (จุดกลับรถเดิม)

4) กม.8+115 (ช.บ่อแขม)

5) กม.13+440.944 (ศูนย์พัฒนาห้วยทราย)

6) กม.14+906 (ทางเข้า บ.หนองข้าวนก)

7) กม.21+650 (วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี)

8) กม.23+496.412 (ถนนท้องถิ่นไปบ้านสามพันนาม)

9) กม.25+428.725 (ซ.วัดวังโบสถ์/สวนน้ำ Black Moutain)

10) กม.36+650 (ทางเข้าอ่างเก็บน้ำปราณบุรี)

11) กม.41+974.850 (ทางเข้า บ.ทุ่งเสือนอน)

รูปแบบที่ 2 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลอง เป็นการก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลอง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นใช้ระบบกลับรถในโครงการให้มีความปลอดภัยขึ้น มี 4 แห่งคือ 1) กม.11+427.731 (ห้วยตะแปด) 2) กม.18+768 (ห้วยมะกอก) 3) กม.31+804.200 (ห้วยหอย) 4) กม.43+351.448 (ห้วยนาตะคลอง)

รูปแบบที่ 3 จุดกลับรถแบบท่อลอดเหลี่ยม ได้ออกแบบตามข้อเสนอแนะของประชาชนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้ออกแบบให้รถขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ สามารถลอดผ่านได้รวมถึงเป็นทางเดินลอดของสัตว์เลี้ยงในพื้นที่โครงการด้วย มี 2 แห่งคือ 1) กม.24+050 (บ.สามพันนาม) 2) กม.32+325 (บ.เขาเสวยราชย์)

นอกจากนี้ได้ออกแบบปรับภูมิทัศน์บริเวณทางแยกต่างระดับบริเวณวงเวียนเพื่อให้เกิดความร่มรื่นและสวยงาม รวมถึงได้ออกแบบเกาะและทางเดินลอดใต้สะพานเป็นพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย (Stamped Concrete) ให้มีสีสันสวยงาม

ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ใช้วงเงินงบประมาณก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2566 กรมทางหลวงได้รับงบประมาณก่อสร้างในส่วนของทางแยกต่างระดับจำนวน 2 แห่ง คือ แยกห้วยตะแปด จำนวน 50 ล้านบาท และแยกช้างแทงกระจาด 56 ล้านบาท ซึ่งแยกห้วยตะแปดงบประมาณก่อสร้าง 250 ล้านบาท และแยกช้างแทงกระจาด งบประมาณ 280 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรสายหลักและเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคตระหว่างภูมิภาค สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนบนซึ่งเป็นเมืองเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ยกระดับถนนปลอดภัยและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

เพราะหากระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...