ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ปลัด มท. ปลื้ม โคก หนอง นา กักเก็บน้ำได้จริง
01 พ.ย. 2565

ปลัด มท. ปลื้ม ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา โชว์ โคก หนอง นา กักเก็บน้ำได้จริง พร้อมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ย้ำเร่งขยายผลสู่พื้นที่ที่มีภูมิสังคมลักษณะคล้ายคลึงกัน

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการฟื้นคืนชีวิตให้กับเขาหัวโล้น ที่ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG-Model) สร้างความยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลด้วยการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน

นายสุทธิพงษ์  กล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามผลการดำเนินงานของ นายวิทยา พันธ์ปัญญากรกุล กำนันตำบลพระธาตุ และประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งได้อธิบายว่า สภาพพื้นที่ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด แต่เดิมมีสภาพแห้งแล้ง เต็มไปด้วยเขาหัวโล้นจากการตัดไม้ทำลายป่า และขาดการดูแลรักษาสภาพป่า ทำให้ป่ามีสภาพทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การทำเกษตร  อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และปัญหาดินโคลนถล่มในช่วงฤดูน้ำหลาก ต่อมาคนในชุมชนได้รวมกลุ่มกันและร่วมพูดคุยเพื่อหาวิธีทางออกในการแก้ไขปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยได้รับแรงผลักดันจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่มีชื่อว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านห้วยกระทิง ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยได้จัดพิธีเปิดศูนย์ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ซึ่งในวันนั้นได้มีการจัดกิจกรรมรวมพลังจิตอาสา เราทำความดีเพื่อสังคม ปลูกคนไปสร้างป่า ด้วยศาสตร์พระราชา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์) ผู้ช่วยศาสตราจจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล เข้าร่วมในพิธีเปิดศูนย์ฯ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ให้ ซึ่งนับเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริทั้งปวง ทั้งยังทรงมีพระราชดำริว่า “สิ่งใดที่ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต้องดำเนินการ และขับเคลื่อนต่อไป” พร้อมทั้งพระราชทานพระราโชบายว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในความสำเร็จที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือ การนำโคก หนอง นา มาประยุกต์ใช้ในบริเวณพื้นที่เชิงเขา โดยนายวิทยา พันธ์ปัญญากรกุล กำนันตำบลพระธาตุ กล่าวว่า น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต การที่จะกักเก็บน้ำได้ เราต้องปรับสภาพพื้นที่ให้มีลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ โดยขุดดินให้มีลักษณะเป็นเนิน หรือที่เรียกว่า โคก และขุดหลุมให้มีลักษณะ เป็น แอ่ง ที่เรียกว่า หนอง พร้อมกันนี้ คนในชุมชนตำบลพระธาตุได้ให้คำนิยาม คำว่า นา คือ ป่า ต้นไม้ ที่มีประโยชน์ จึงได้นำแนวคิดการปลูกป่า 5 ระดับ (ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้ใต้ดิน) ไม้ 3 อย่าง (ไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา, ไผ่ ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่าง ๆ และไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก เป็นต้น) ประโยชน์ 4 อย่าง (พอกิน คือ นำมาใช้เป็นอาหาร พออยู่ คือ นำมาใช้สร้างบ้าน ฟืน อาคาร พอใช้ คือ สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และพอร่มเย็น คือ ช่วยอนุรักษ์ดิน และน้ำ สร้างระบบนิเวศที่สมดุล) มาใช้ ซึ่งผลลัพธ์ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในฤดูน้ำหลาก บริเวณชุมชนเชิงเขา ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าหลาก เนื่องจากป่าที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างร่วมกันปลูกสามารถชะลอความรุนแรงของน้ำ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์ฟื้นคืนชีวิตให้กับธรรมชาติให้เป็นแหล่งอาหารของทั้งคน และสัตว์ป่าอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพที่ถ่ายมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นภาพกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี ที่คนในชุมชนร่วมกันขุดลอกแหล่งน้ำ และปรับสภาพภูมิทัศน์ตกแต่งให้ดูสวยงานตามธรรมชาติ เพื่อเตรียมการนำพืชผัก ผลไม้มาปลูก เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการปลูกผลผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และมีการต่อยอดขยายผลสู่ขั้นก้าวหน้า คือ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อให้เกิดความรักใคร่ ความสามัคคีในชุมชน นอกจากนี้ ในห้วงเดือน กันยายน 2565 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอข่าว การนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากสมาชิกและเครือข่ายเกษตรกรโคก หนอง นา ที่บ้านพะกอยวา สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อำเภอสามเงา ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่น่าชื่นชม เพราะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถแบ่งปันความอุดมสมบูรณ์ไปสู่พื้นที่อื่นได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้บนหลักความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม มาประยุกต์ใช้จนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นที่จะ Change for Good และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ พร้อมเร่งขยายผลสู่พื้นที่ที่มีสภาพภูมิสังคมเช่นเดียวกับ บ้านพะกอยวา

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...