ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ภาษีโครงการคนละครึ่งไม่มีจริง
06 พ.ค. 2565

โครงการคนละครึ่ง เป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และส่งผ่านกำลังซื้อไปสู่ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ต้องดำเนินการไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการจ่ายภาษีของผู้ประกอบการจึงไม่เกี่ยวกับโครงการคนละครึ่ง เพราะฐานข้อมูลผู้ที่เข้าโครงการคนละครึ่ง ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับระบบของกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบรายได้ การเสียภาษีหรือไม่ หรือจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคล ฉะนั้น ตามข่าวที่ระบุว่า “มีการเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง” จึงไม่มีอยู่จริง

กรมสรรพากรไม่ได้มุ่งเน้นจัดเก็บภาษีผู้เข้าร่วมโครงการรัฐโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่หากผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ได้เงินจากการค้าขาย หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี โดยสามารถนำเอกสารหลักฐานต้นทุนในการประกอบกิจการมาหักค่าใช้จ่ายจากยอดขายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ หรือหากไม่ได้เก็บเอกสารต้นทุน ก็สามาถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 60 ได้ ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิหลักหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือในอัตราเหมาจ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนต่าง ๆ โดยหากมีเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 1-150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี แต่หากมีเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 150,001 บาทเป็นต้นไป ก็จะต้องนำรายได้เหล่านั้นมายื่นภาษี โดยจะต้องยื่น 2 ครั้ง ตามระยะเวลาที่กำหนด

หรือหากเป็นร้านที่ขายดีมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ด้วย โดยจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ เพื่อยื่นแบบ ภ.พ. 30 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน และชำระเงินภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการคนละครึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างมาก หลังจากโครงการในเฟส 4 ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 65 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิ 26.27 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 61,835.1 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในเฟส 4 จำนวน 1.36 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.98 หมื่นราย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประชาชนและผู้ประกอบการที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการบริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่แสดงถึงความจำเป็นและความสำเร็จในโครงการคนละครึ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อสมาคมภัตตาคารไทยได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นมากสำหรับร้านอาหารขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกของสมาคมกว่า 9,000 ร้านค้า ที่เมื่อโครงการคนละครึ่งเฟส 4 สิ้นสุด ทำให้ยอดขายของร้านอาหารขนาดเล็กหายในทันที

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าควรมีมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ต่อไป เพราะแม้ว่าประชาชนจะเริ่มมีการจับจ่ายกันมากขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าสถานการณ์ตามปกติ ซึ่งควรเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น จากการคำนวน คนละครึ่งเฟส 5 หากมีการให้คนละ 1,500 บาทอีกรอบ รัฐบาลจะใช้งบประมาณประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินเข้าระบบ 90,000 ล้านบาท โดยจะทำให้ GDP ตัวเลขดีขึ้นได้ถึง 0.63-0.65% ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของ GDP ประเทศไทยนั้นได้อยู่ช่วงเกิน 3% แน่นอน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...