ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กกร.ปรับกรอบคาดการณ์ GDP ปี 65 เป็น 2.5-4%
05 เม.ย. 2565

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็นขยายตัว 2.5- 4% จากเดิม 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าเดิมที่ 3-5%
พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ จากความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและ เอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยูกับโควิด-19 ได้ แบบเป็นปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ ขณะที่ยังได้รับ แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงสุดในรอบ 10 ปี
"เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านแต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ ความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้ สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ ที่ประชุม กกร.จึงปรับประมาณการ เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4.0% และคงประมาณการการส่งออกว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% ส่วนอัตรา เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในกรอบ 3.5- 5.5%" นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร. กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ใน ตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 65 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยัง ระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน โดย OECD ประเมินว่า วิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้ เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤต
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้อง ล็อกดาวน์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การล็อกดาวน์พื้นที่ในจีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบ ต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรง ขึ้นได้ อีกทั้งภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และ กำลังซื้อในประเทศ ถึงแม้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคา สินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคา อาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนขณะนี้กำลังเป็นปัญหาที่ภาคเอกชนต้องติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กกร.ยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแผนสำรองในการส่งออกผลไม้ ผ่านทางเรือและทางอากาศ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ ประชาชนบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ปัญหาการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เพื่อให้การบริหารจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออก มีระบบการจัดการที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัย ตามเกณฑ์ GAP,GMP+, SHA โดยคาดหมายว่า จะเริ่มส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนผ่านระบบการจัดการดังกล่าวได้ในเดือน เม.ย.65
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.เห็นว่าหากมีการยกเลิกมาตรการ Test&GO จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ เกิน 3%

นอกจากนี้ กกร.มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 65
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.ยังมีความกังวลกรณีที่จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่จะเป็นภาระ ในการลงทุนของภาคเอกชนคิดเป็นมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งกฎหมายลำดับรองยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมี เวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเช้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นี้ด้วย กกร.จึงมีความเห็นว่าภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมใน การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณากฎหมายลำดับรอง จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไป ก่อนสัก 1-2 ปี โดย กกร.จะเร่งทำหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ภายในสัปดาห์นี้
"ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมาก เพราะต้องจัดงบในการดูแลระบบ ต้องฝึกอบรมพนักงานให้มีความเข้าใจตรง กัน ตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาเลยแล้วจะเตรียมตัวไม่ทัน" นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะการค้าต่างประเทศในเดือน ก.พ.65 มี อัตราการนำเข้าทรงตัวเท่ากับการส่งออก ขณะที่ก่อนหน้านี้มีปริมาณการนำเข้าที่สูงกว่า สะท้อนถึงทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อการส่งออกในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...