ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
อธิบดีปศุสัตว์ เผยนายกฯ กำชับเร่งคุมโรคระบาด
14 ม.ค. 2565

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ นสพ.กิจจา อุไรวงค์ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประมาณ 20 นาที โดยทั้ง นสพ.สรวิศ และ นสพ.กิจจา ได้สวมกอดกันในลักษณะให้กำลังใจซึ่งกันและกันหลังลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้า

จากนั้น นสพ.สรวิศให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯเอาใจใส่ ติดตามการแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกฯ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยสั่งการว่า 1.ให้ดำเนินการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด 2.จะต้องฟื้นฟูให้เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และดูว่ารัฐสามารถช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง 3.การพัฒนาวัคซีน ASF เพื่อป้องกันโรคระบาด เพราะโรคนี้เกิดขึ้นมา 100 ปี แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และ 4.แนวทางการสำรวจสุกรที่ติดเชื้อ เนื่องจากขณะนี้มีการระบุว่าสุกรที่สูญหายไปจากระบบกว่า 50% นั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้นายกฯได้สั่งการว่า จะต้องให้ทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ เพราะกรมปศุสัตว์มีเจ้าหน้าที่น้อย นอกจากนี้ นายกฯ ยังให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ทั้งนี้ เรื่องราคาหมูแพงต้องพูดคุยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ว่าสามารถตรึงราคาได้แค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์รับทราบมาตลอดว่ากรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายได้ทำอะไรมาบ้างตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีกระแสว่ากรมปศุสัตว์ปกปิดข้อมูลเรื่องการระบาดโรค ASF นายกฯได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่ นสพ.สรวิศกล่าวว่า นายกฯเข้าใจเพราะได้รายงานการทำงานให้นายกฯตลอด โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้เกิดโรคระบาดในจีน และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 รัฐบาลได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิดจะไม่สามารถส่งหมูไปต่างประเทศได้ เช่น เวียดนาม หรือกัมพูชา เพราะเขาก็ต้องตรวจโรคเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นคำตอบที่สำคัญ ส่วนเงินที่ขอจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เป็นเงินที่ใช้ในการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นไปตามหลักการระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ หากมีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคระบาดชนิดใดในสัตว์เราสามารถดำเนินการลดความเสี่ยง และรัฐบาลจะชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ขีดเส้นการแก้ไขปัญหาไว้หรือไม่ นสพ.สรวิศกล่าวว่า นายกฯไม่ได้ขีดเส้น แต่บอกว่าให้ช่วยเหลือกันในการขับเคลื่อน เพราะโรค ASF ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดใน 34 ประเทศทั่วโลก โดยในเอเชียรอบบ้านเรามีการระบาดกว่า 14 ประเทศ นายกฯได้เน้นย้ำแค่ในเรื่องการควบคุมโรคให้ดี และสงบโดยเร็ว รวมถึงสามารถทำให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ โดยเป็นการร่วมมือกันกับภาครัฐ เอกชนและอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม แม้นายกฯจะไม่ได้ขีดเส้น แต่ได้ถามถึงราคาสุกรและการเข้ามาของสุกรในระบบว่าใช้เวลาการดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็ตอบไปว่าประมาณ 8-12 เดือน

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าไม่รู้หมูหายไปจากระบบได้อย่างไร ได้ชี้แจงนายกฯถึงประเด็นนี้หรือไม่ นสพ.สรวิศกล่าวว่า ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ว่าหมูหายไปไหน แต่เป็นไปตามระบบของกรมปศุสัตว์ และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ที่หากได้รับแจ้งว่ามีการระบาดก็จะลงไปตรวจสอบ จากนั้นจะเก็บตัวอย่างมาตรวจในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หรือสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ที่สามารถยืนยันผลการตรวจได้ โดยนายกฯได้สั่งการให้สำรวจว่าสุกรที่อยู่ในระบบมีจำนวนเท่าไหร่

เมื่อถามถึงกรณีที่เกษตรกรที่นำหมูที่ล้มตายออกไปขาย นสพ.กิจจากล่าวว่า โรค ASF ไม่ก่อโรคในคนและสัตว์ชนิดอื่น ยังสามารถบริโภคได้ แต่ต้องเน้นในเรื่องของสุขอนามัย จึงขออย่าตระหนกและตกใจ

เมื่อถามว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใน จ.นครปฐม บอกว่ามีการระบาดของโรคมา 2 ปีแล้ว นสพ.กิจจากล่าวว่า ประเด็นสำคัญหากพบการระบาดของโรคแล้วมาตรการต่อไปที่จะดำเนินการคือ การฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งขึ้นเหมือนเดิม แต่จะเสียหายเท่าไหร่ต้องดูการประเมินก่อน สำหรับแนวทางปัจจุบันที่ต้องทำคือควบคุมการระบาดให้ได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก และไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้บริโภคต้องเดือดร้อน สำหรับราคาหมูปัจจุบันที่แพงขึ้นทางรัฐบาลจะต้องจัดการอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าต้องใช้เวลาประมาณเท่าไหร่การเลี้ยงสุกรถึงจะกลับมาเหมือนเดิม นสพ.สรวิศกล่าวว่า นายกฯสั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฟื้นฟู เบื้องต้นต้องทำการสำรวจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงๆ เท่าไหร่กันแน่ ที่พูดไปว่า 60% นั้น จากตัวเลขเคลื่อนย้ายสัตว์ของกรมปศุสัตว์เสียหายไม่เกิน 20% นายกฯจึงให้สำรวจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และการที่เนื้อหมูราคาแพงไม่ได้เป็นเพราะโรคอย่างเดียว นายกฯมีความเข้าใจว่าต้นทุนการผลิตหมูไม่ใช่แค่เรื่องป้องกันโรคอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์

เมื่อถามว่าวงเงิน 574 ล้านบาท ที่จะเยียวยาจะไปที่กลุ่มไหนบ้าง นสพ.สรวิศกล่าวว่า รายย่อยเท่านั้น ขอทำความเข้าใจว่าการเยียวยาดังกล่าวคือการดำเนินการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 ที่เกิดโรคในจีน ภายใน 6 เดือนจีนฆ่าสุกรไป 500 ล้านตัว ในประเทศไทยมีการประชุมตั้งแต่ต้นว่าจะป้องกันอย่างไร ภาคเอกชนมีการลงขันช่วยเหลือรายย่อย ดำเนินการลดความเสี่ยง 100 ล้านบาท เมื่อเขาระดมทุนมาแล้ว เขาจึงขอภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ตนรับราชการมานี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลช่วยเหลือหมูในการให้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 1.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ดำเนินการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่ใช่เกิดโรคแล้ว ขอย้ำตรงนี้ และโรคในสุกรหากดูภายนอกเราไม่รู้ การควบคุมโรคที่ชัดเจนคือการขจัดความเสี่ยงเพื่อให้ทันกับโรค ส่วนงบประมาณที่จะให้รายกลาง รายใหญ่ เราไม่มีให้ เพราะรัฐบาลสนับสนุนเฉพาะรายย่อย

นสพ.สรวิศกล่าวว่า พร้อมกันนี้นายกฯยังได้สอบถามถึงเกษตรกรรายย่อยที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ตรงนี้เราต้องยกระดับการเลี้ยง เมื่อก่อนรายย่อยไม่มีระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพหรือการควบคุม แต่รายใหญ่ที่เป็นฟาร์มมาตรฐานมี นายกฯจึงบอกว่าต้องทำถึงระดับที่กรมปศุสัตว์ยอมรับคือ GFM ป้องกันโรคได้ ห้ามสัตว์พาหะเข้าไป มียาฆ่าเชื้อ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ได้ของบประมาณจากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อยกระดับตรงนี้ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยมีถึงแสนกว่าราย ส่วนใหญ่ไม่ต้องดำเนินการในส่วนนี้ และอีกอย่างที่หน่วยงานราชการจะดำเนินการคือ กรมปศุสัตว์มีศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ โดยจะผลิตพันธุ์สุกรขายเกษตรกรรายย่อยในราคาถูก

เมื่อถามถึงกระแสข่าวข่มขู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร นสพ.สรวิศกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่าอธิบดีกรมปศุสัตว์ยังไม่ถอดใจใช่หรือไม่ นสพ.สรวิศกล่าวว่า ไม่ เพราะการทำงานที่ผ่านมาในการควบคุมโรคตลอดเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีเคยควบคุมโรคในม้า ในวัว ที่ตอนนี้แทบไม่มีการเกิดโรคใหม่แล้ว และเราผลิตวัคซีนเองได้แล้ว สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูเกิดขึ้นมาร้อยปี ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน การควบคุมโรคต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งนายกฯกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าใจการทำงาน และให้กำลังใจ ให้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป 

นสพ.กิจจากล่าวเสริมว่า วิกฤตในปัจจุบันต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นถึง 30%

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร หลังจากที่ไทยมีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมู โดยขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุและเร่งรักษาตามสาเหตุอาการตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมูในการป้องกันเบื้องต้นระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมทั้งเปิดรับช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขและลดความเสียหายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาด้วย

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการกรมปศุสัตว์ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกันก็เร่งศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ ในการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทุกอย่างให้ครบเพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งปัญหาหมูราคาแพง พร้อมแนะอธิบดีกรมปศุสัตว์จัดตั้ง War room สื่อสาร ชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...