วันที่ 15 เม.ย.2568 นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. หารือการปรับแก้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ถูกฟ้องล้มละลาย ไม่ต้องออกจากราชการเนื่องจากเป็นคดีทางแพ่งไม่ใช่การทุจริต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องนั้น ปัจจุบันมีข้าราชการ ที่มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ในส่วนของข้าราชการครูมีหลายคนที่เป็นหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและเป็นหนี้กับสถาบันการเงินควบคู่กัน “ตามพ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2553 มาตรา 42/1 จะมีการหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้ให้กับสหกรณ์โดยตรง จึงทำให้ในส่วนของสหกรณ์จะไม่มีการฟ้องร้องครูที่เป็นลูกหนี้ แต่เมื่อถูกหักเงินส่วนนี้ ครูที่มีหนี้หลายช่องทางก็จะไม่มีเงินเหลือพอที่จะคืนเงินให้กับสถาบันการเงินอื่นๆจึงทำให้ถูกฟ้องล้มละลายโดยในปี2567มีข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายกว่า 7,000 คน ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 14,000 คน และในจำนวนนี้เป็นข้าราชการครูกว่า 5,000 คน ซึ่งหากถูกฟ้องล้มละลายก็จะถูกให้ออกจากราชการไม่มีอาชีพ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา”นายณรินทร์ กล่าว
นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จึงเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนกฎหมายที่ช่วยเหลือข้าราชการในทุกสาขาอาชีพ ไม่เพียงแต่ข้าราชการครูเท่านั้นโดยสาเหตุที่ไม่ควรให้ออกจากราชการ เพราะเห็นมองว่า การล้มละลายไม่ใช่การทุจริต เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ดังนั้นควรได้รับโอกาสในการทำงานต่อไป เพราะหากถูกบังคับออกจากราชการก็จะเสียช่องทางการหารายได้เป็นการสร้างภาระเพิ่ม“จากนี้จะต้องหารือกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ซึ่งเป็นผู้แลภาพรวมของข้าราชการทั่วประเทศ รวมไปถึงหารือกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เพื่อยกก่อนจะนำเรื่องนี้เข้าเสนอที่ประชุมครม.ต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของการผลักดันร่างกฎหมาย”นายณรินทร์ กล่าว
นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการจำนวนมาก จึงควรเร่งผลักดันเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด หากช้าไปกว่านี้ ก็อาจทำให้มีข้าราชการเดือดร้อน ถูกฟ้องล้มละลาย ต้องออกจากราชการ เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง และหากถูกให้ออกแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นข้าราชการได้อีก