ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
การตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ในขณะนี้น่าจะเป็นเดิมพัน ครั้งสุดท้ายของจริง (นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร )
22 มี.ค. 2563

(1)
ถือเป็นมาตรการ “เฮือกสุดท้าย” ของรัฐบาล สำหรับการออกแคมเปญ ขอความร่วมมือให้คนไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จากสัปดาห์ก่อน และเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าการติดเชื้อหลายจุด ไม่สามารถหาที่มาได้แล้ว
•  
แน่นอน การเพิ่ม 3-4 เท่าตัว ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของบรรดาหมอๆ ในกระทรวงสาธารณสุข เพราะคาดไว้อยู่แล้วว่าสักวันหนึ่ง ก็จะเกิดการระบาดในระดับนี้ สิ่งที่กระทรวงทำ ก็คือการพยายาม “ชะลอ” กราฟ ไม่ให้ดิ่งขึ้นสูงพรวดพราดรวดเดียวเหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา หรือในอู่ฮั่น ซึ่งระบบ ไม่สามารถรองรับไหว
•  
แต่จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ อยู่ตรงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทันที หลังจากพบ Cluster ใหม่ ที่ใหญ่ระดับ “สนามมวยลุมพินี” และ “สนามมวยราชดำเนิน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแต่ละแห่งอยู่ในระดับ 5,000 – 6,000 คน ด้วยเหตุบังเอิญ จากการที่ แมทธิว ดีน และบรรดา “เซียนมวย” ไปตรวจเชื้อดัวยตัวเอง แล้วทำให้ Cluster นี้ ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง จนยากที่จะควบคุม และมี “ความเสี่ยง” สูง ที่จะทำให้กราฟตั้งชัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยหลักพัน หลักหมื่นอย่างรวดเร็ว...
•  
•  
(2)
โดยปกติ วงการสาธารณสุข จะมี “ขั้ว” ใหญ่ๆ อยู่ 2-3 กลุ่ม หนึ่งคือบรรดาข้าราชการสายกระทรวง ซึ่งโดยมาก มักจะเป็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด และบรรดาระดับ รองปลัดฯ - อธิบดี 
•  
คนกลุ่มนี้ จะใกล้ชิดกับรัฐมนตรีมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่เสียงดัง สามารถ “คอนโทรล” รัฐมนตรีได้ โดยเฉพาะในระยะเวลาที่รัฐมนตรีที่ “ไม่ใช่หมอ” คอยกุมบังเหียนกระทรวง
•  
กลุ่มที่สองคือ “แพทย์ชนบท” กลุ่มนี้ มาจากโรงพยาบาลชุมชน และรวมตัวกันเป็น “ชมรม” โดยปกติจะสืบทอดอำนาจกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุคปลัด นพ.สุขุม กาญจนพิมาย และยุคเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล กลุ่มแพทย์ชนบทเอง “ขึ้นหม้อ” เข้าไปเดินป้วนเปี้ยนกันแถวห้องปลัด ห้องรัฐมนตรีหลายคน จนสามารถ “สลาย” ขั้วหมอชนบทได้หมด เพราะหมอชนบท ได้อำนาจกันไปหมดแล้ว
•  
และอีกขั้วหนึ่ง คือ สายโรงเรียนแพทย์ - ราชวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งโดยปกติ สายนี้ จะไม่เกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจในกระทรวงเท่าไหร่ และมักจะอยู่เหนือทุกความขัดแย้ง การจัดสรรงบประมาณ และในเวลาที่กระทรวงทะเลาะกัน หมอมีปัญหากัน วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการส่งอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะจากรามาธิบดี ไม่ว่าจะจากศิริราช เหาะลงมาเป็นรัฐมนตรี
•  
รัฐบาลคสช. จัดการด้วยวิธีนี้แล้ว เมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยการแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จากศิริราชมาเป็นรัฐมนตรี และหยุดความขัดแย้งในกระทรวงได้สำเร็จ (ไปช่วงหนึ่ง)
•  
•  
(3)
หลังจากนโยบายจัดการโควิด – 19 เกิดความสับสน ความศรัทธาในตัวกระทรวงสาธารณสุขหายไป จากการบริหารจัดการที่ “มั่ว” และเริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข กับตัวรัฐมนตรี กับตัวรัฐบาล ไม่ว่าจะเรื่องหน้ากากที่ไม่เพียงพอ อุปกรณ์ที่ขาดแคลน หรือเรื่องนโยบายหลายอย่าง ที่สั่งไปจากกระทรวงแล้วไม่เด็ดขาด 
•  
ที่หนักเข้าไปอีกคือท่าทีจากหลายราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์ ที่ออกมา “อัดยับ” ใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก สมาคมอุรเวชช์ หรือแพทย์ทรวงอก ที่ออกมาบริภาษถึง “แม่ทัพ” ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ให้ความสนับสนุน เครดิตความเชื่อถือของกระทรวงจึงดิ่งหายลงไปทันที
•  
กระทรวงสาธารณสุข อาจล้มเหลวในความเชื่อถือของสาธารณชนได้ แต่ถ้าความน่าเชื่อถือของ “หมอ” หมดไปเมื่อไหร่ กระทรวงจะไม่สามารถฟังก์ชันได้อีกเลย ในเฉพาะช่วงวิกฤต หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้
•  
เมื่อนั้น หมอปิยะสกล ซึ่งตอนนี้นั่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ “เหาะ” ลงมา พร้อมๆ กับ หมออุดม คชินทร อดีตคณบดีศิริราช และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ท่ามกลางเสียงเชียร์จากบรรดาราชวิทยาลัย จากโรงเรียนแพทย์ ให้เข้ามา “ต่อรอง” กับรัฐบาล และคุมทิศทางการจัดการโรคระบาดให้เข้าที่เสียที
•  
ขณะเดียวกัน “ประยุทธ์” ก็จัดการ ใช้งานหมอปิยะสกล ให้ทำหน้าที่หลายอย่างแทนอนุทินทันที โดยเฉพาะการเป็นมือประสาน การตัดสินใจ และการให้ข้อมูล ทุกอย่าง ส่งตรงถึงประยุทธ์
•  
ล่าสุดคือการตั้งให้ทั้งหมอปิยะสกล และหมออุดม นั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติด้วยตัวเอง
•  
หลายคนอยากให้หมอปิยะสกลกลับมาเป็น “รัฐมนตรี” ในช่วงนี้แทนด้วยซ้ำ เพราะถึงอย่างไร หมอปิยะสกล ก็รู้เรื่องมากกว่าเสี่ยหนู และทีมงานจากพรรคภูมิใจไทยแน่นอน
•  
ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้น ท่ามกลาง “ข่าวลือ” ว่าเกิดอาการ “ไม่กินเส้น” กันระหว่างรัฐบาลซีกประยุทธ์ และซีกอนุทิน - พรรคภูมิใจไทย จนสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้นำสั่งการหลายเรื่องแทนอนุทิน รวมถึงการที่หลายจังหวัด “เขตปกครองพิเศษ” ของภูมิใจไทย อย่างบุรีรัมย์ และอุทัยธานี ออกคำสั่ง “ปิดจังหวัด” ตั้งจุดคัดกรองด้วยตัวเอง ข้ามหน้ากระทรวงมหาดไทย
•  
•  
(4)
แน่นอน หลังจากดึงหมอปิยะสกลกลับมา หลายอย่างก็ดูดีขึ้น บรรดาราชวิทยาลัย บรรดาอาจารย์หมออาวุโสหลายคน ยอมกลับมาทำงานร่วมกับรัฐบาล นั่งประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญคือเรียกความน่าเชื่อถือ ให้บรรดาแพทย์ในกระทรวงได้มาก
•  
เพราะต้องไม่ลืมว่า คนพวกนี้ ก็เป็นอาจารย์ของบรรดา “หมอๆ” น้อยใหญ่ที่นั่งทำงานอยู่ทั้งในกระทรวง และนอกกระทรวงทั้งนั้น การจัดการแบบไทยๆ ถ้าเอาผู้อาวุโส ที่เคารพนับถือมานั่งสั่งงานเป็นบอส ย่อมน่าเชื่อถือกว่าเอา “นักการเมือง” ที่ไหนก็ไม่รู้ มาบริหารอยู่แล้ว
•  
น่าเสียดายที่เวลาที่ผู้อาวุโสเหล่านี้ ถูกเรียกมานั่งประชุม ได้เคลื่อนสู่จุดที่เรียกว่าเป็น Point of no Return นั่นคือไม่สามารถหันหลังกลับ ลองผิดลองถูกได้อีกต่อไป...
•  
เพราะฉะนั้น มาตรการ “ขอความร่วมมือ” อย่างหนักหน่วง ด้วยการให้ทุกคน “อยู่กับบ้าน” “งดออกต่างจังหวัด” จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ ตามคำแนะนำของหมอสายโรงเรียนแพทย์
•  
ด้วยการเสนอ Worst-Case Scenario ว่า หากยังปล่อยให้มีการเดินทางเสรี โคโรนาไวรัส จะเดินทางไปยังต่างจังหวัดด้วย และเมื่อออกไปถึงระดับ “ชนบท” เมื่อไหร่ ให้เป็นโรคที่โรงพยาบาลอำเภอเมื่อไหร่ เมื่อนั้น ประเทศไทย จะดูไม่จืด 
•  
ข้อเสนอจากฝั่งโรงเรียนแพทย์ ไม่ได้ว่ากันที่ตัวเลขผู้ป่วยระดับพันคน แต่ว่ากันที่หลักหมื่นคน ภายในจุด “พีค” ปลายเดือนเม.ย.นี้
•  
จริงอยู่ที่ผู้ป่วยโควิด – 19 จำนวนมาก จะป่วยเพียงเล็กน้อย แต่หากมีผู้ที่ป่วยหนัก หลักร้อยคนที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือแม้แต่โรงพยาบาลจังหวัด ในที่สุดระบบก็จะรับไม่ไหว
•  
น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยตัดสินใจโดยใช้พื้นฐานของ “ความเสี่ยง” ขั้นสูงสุดเลย กลับคิดแต่ว่าจะ “จัดการได้” และมัวแต่ไปสาละวนอยู่กับความขัดแย้ง ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเท่านั้น
•  
•  
(5)
คำถามสำคัญก็คือ ณ ขณะนี้ จะควบคุมการระบาดอย่างไร ไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยกระจัดกระจายไปทั่ว จนโครงสร้างพื้นฐานที่มี ไม่สามารถจัดการต่อไปได้อีก 
•  
สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ หลังจากนี้ โควิด – 19 จะกระจายต่อไปทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยจะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหลายเท่าตัว และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง มาตรการ “ล็อกดาวน์” จะเกิดขึ้นจริง เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด และเร็วที่สุด
•  
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อมาถึงตรงนี้ จะไม่มี “Plan B” อีกต่อไปแล้ว
•  
หากการจัดการรอบนี้ไม่สำเร็จ ก็อาจหมายถึงว่าประเทศไทยจะไม่ชนะ และอาจต้องยอมแพ้กับโควิด – 19 ปล่อยให้ติดกันหมด แล้วสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ Herd Immunity ก็เป็นได้
•  
การตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ในขณะนี้ น่าจะเป็น “เดิมพัน” ครั้งสุดท้ายของจริง...

#COVID19 #โควิด19 #ปิยะสกลสกลสัตยาทร

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...