ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม.ประชุมเข้ม เพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19
14 มี.ค. 2563

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร หรือ “ศูนย์ข้อมูล COVID–19 กทม.” โดยกล่าวว่า กทม.ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด – 19 ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยประสานความร่วมมือกับ สธ.ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด – 19 ทั้งข้อมูลข่าวสารและให้ความร่วมมือดำเนินการด้านต่างๆ ตลอดจนส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางของ สธ. รวมถึงจัดทำแนวทางคัดกรองเพื่อวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคโควิด – 19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.อย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกันได้รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด – 19 โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัส จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น รวมถึงประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติ ผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน สร้างความตระหนัก ลดความตื่นตระหนก และก่อให้เกิดการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี

หากสงสัยในอาการของโรค สอบถามได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 บริการตอบปัญหาและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หากต้องการพบแพทย์จะต่อไปยังศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัดกทม.ต่อไป

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยได้ประสานงานทำความเข้าใจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการส่งต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องติดตามอาการทุกราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ทั้ง 68 แห่ง ได้เยี่ยมดูแลเฝ้าระวังอาการผู้ที่เข้าข่ายกักกันอย่างต่อเนื่อง 14 วัน ได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการควบคุมและติดตามผู้ที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการของโรคโควิด – 19 ซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านในเขตพื้นที่ กทม. โดยแจกเอกสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงจัดทำเอกสารแนะนำการดูแลตนเองและแนวทางติดตามอาการผู้ป่วยที่กักกันตัวที่บ้าน เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน

พร้อมกันนี้ ได้ให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ประสานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ที่จัดทำแอพพลิเคชั่น AOT Airports สำหรับให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนดาวน์โหลดและกรอกเบอร์โทรศัพท์เพื่อใช้ติดตามตัวผู้มีความเสี่ยงกลับมาตรวจและเฝ้าระวังได้ทันท่วงที รวมถึงแอพพลิเคชั่น SydeKick for ThaiFightCOVID สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านและแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเสี่ยง เพื่อใช้ในการติดตาม เฝ้าระวังผ่านระบบ Location Tracking รู้พิกัดกลุ่มเสี่ยง เพื่อดูว่า กทม.สามารถนำมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ กทม.ได้อย่างไรบ้าง

รวมทั้งได้กำชับให้สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง จัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งในพื้นที่ต่างๆ ของสำนักงานเขตอย่างต่อเนื่อง และประสานงานหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อขยายผลบิ๊กคลีนนิ่งโดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก นอกจากนี้ ให้สำนักพัฒนาสังคมจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกทม.ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค รวมทั้งให้สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตทุกแห่ง เร่งรัดการสอนตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด – 19 ไปสู่สมาชิกในครอบครัว สำหรับผู้ที่ต้องกักกันโรคที่บ้าน 14 วัน ให้ปฏิบัติตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. ให้หยุดเรียน หยุดงาน ไม่ออกไปนอกที่พักอาศัยไม่เดินทางไปที่ชุมชน หรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 2. รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว 3. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% 5. สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน 6. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดพูดคุยกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ 7. การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้วิธี ใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที

8. ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจามโดยปิดถึงคาง แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งหรือ ใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และ ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที 9. ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางพักเช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียม ไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 10 ส่วน) 10. ทำความสะอาดเสื้อผ้าผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำหรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70 – 90 องศาเซลเซียส

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...