ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
คนไทยกลุ่มเล็กๆ ผู้ส่งต่อเสน่ห์แห่งอารยธรรมผ่าน“อักขระล้านนา”
02 ส.ค. 2562

ณ มุมหนึ่งภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ จำพงษ์ ตั้งตระกูล ชายไทยวัย 79 ปีคนหนึ่ง นั่งอยู่หลังโต๊ะที่มีป้ายเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาจีนว่า “กิจกรรมสาธิต เขียนอักขระล้านนา”

จำพงษ์เป็นครูสอนอักขระล้านนาที่ได้รับเชิญให้มาเขียนตัวอักษรโบราณให้ผู้เข้าชมงานได้ยล ด้วยการเขียนชื่อผู้เข้าชมงานด้วยอักขระที่เคยใช้กันในอดีต และกำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน ในงานล้านนาเอ็กซ์โป 2019 ภายใต้แนวคิดกินดี อยู่ดี วิถีล้านนา นำคุณค่าสู่อาเซียน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.-7 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยจัดแสดงของดีจาก 4 จังหวัดภาคเหนือของไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

เนื่องจากจำพงษ์ หรือ “เฉินเม่าจือ” (陈茂芝) เป็นหนึ่งชาวไทยเชื้อสายจีน ดังนั้น นอกจากการถ่ายทอดอักขระล้านนาให้กับชาวไทยแล้ว เขายังอยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมเหล่านี้ให้ชาวจีนได้รับรู้อีกด้วย

วันเสาร์วันหนึ่งที่ในศูนย์จัดแสดงฯ แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ผู้มาเข้าชมงานบางรายได้เดินมาดูซุ้มอักขระล้านนาของจำพงษ์ นักท่องเที่ยวสาวชาวจีนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่า “ช่วยเขียนชื่อของฉันด้วยได้ไหมคะ แต่ว่าเป็นชื่อจีน”

“ได้สิครับ” จำพงษ์ตอบ จากนั้นจึงเลือกสรรกระดาษสีเหลืองที่ตกแต่งอย่างงดงามขึ้นมาหนึ่งแผ่น แล้วบรรจงเขียนอักษร “จ้าวเจีย” (赵佳) ชื่อของหญิงสาวลงไปเป็นตัวอักษรล้านนา พร้อมทั้งอธิบายให้เธอฟังว่าอักษรล้านนาคืออะไร

ล้านนา คืออาณาจักรเก่าแก่ซึ่งเคยปกครองเชียงใหม่และเมืองโดยรอบ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13-18 แม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 16-18 ล้านนาจะอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ตองอูแห่งเมียนมา แต่หลังจากนั้น ล้านนาก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน ทุกวันนี้หากพูดถึงคำว่า “ล้านนา” ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ผู้คนมักจะนึกถึงภาคเหนือและวัฒนธรรมภาคเหนือของไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ประจำจังหวัดชียงใหม่ระบุว่า พญามังรายทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ.1839 และทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกของล้านนา

อักขระล้านนาถูกใช้ในเชียงใหม่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรล้านนา เพื่อเขียนคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และจดจารภาษาไทยถิ่นเหนือ รวมถึงภาษาของชาวไทยวน

ปัจจุบัน วัดและโรงเรียนจำนวนมากทางภาคเหนือของไทยมีป้ายอักษรล้านนาควบคู่กับอักษรไทยมาตรฐาน แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนในเชียงใหม่ที่อ่านออก

จำพงษ์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เขาสอนอักขระล้านนาทุกวันอาทิตย์ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดดังประจำจังหวัดเชียงใหม่

วันรุ่งขึ้น จำพงษ์ได้เชื้อเชิญผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวไปยังศูนย์การเรียนภาษา จารีตประเพณี และวรรณกรรมล้านนา ที่โรงเรียนภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งมีคนไทยหลายสิบคน ตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุในวัย 60 กว่าปี มาเข้าเรียนภาษาล้านนาในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-11.00 น.

ดุสิต ชวชาติ ชายวัย 72 ปี ผู้เป็นครูของจำพงษ์กล่าวว่า “การเรียนการสอนอักขระล้านนาที่วัดพระสิงห์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ และผมก็เป็นนักเรียนรุ่นแรก” การสอนอักขระล้านนาสมัยก่อนเปิดสอนในช่วงเข้าพรรษาของแต่ละปี ดุสิตใช้เวลาเรียนราว 3-4 ปี จนกระทั่งมีความรู้แตกฉานในด้านนี้

“ตอนนั้นผมเป็นครูครับ ผมรู้สึกว่าตัวอักขระล้านนาน่าสนใจมาก เมื่อเรียนแล้วทำให้ผมอ่านคัมภีร์ของศาสนาพุทธที่เขียนด้วยอักขระล้านนาออกครับ” ดุสิตกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...