ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
“รมช.มนัญญา”เปิดงานรณรงค์กำจัดตั๊กแตนในแปลงอ้อย
26 ก.ค. 2562

“รมช.มนัญญา” เปิดงานรณรงค์กำจัดตั๊กแตนในแปลงอ้อย ชูแนวคิด“อุทัยธานีโมเดล”ปราบตั๊กแตนด้วยวิธีการจับ ช่วยลดประชากรตั๊กแตนโดยไม่ใช้สารเคมี พร้อมเชื่อมโยงการตลาดหนุนเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีการจัดงานรณรงค์กำจัดตั๊กแตนในแปลงอ้อย ณ หมู่ที่ 8 บ้านอุดมสุข ตำบลบ้านใหม่คลองเคียน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยมีร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายรังสรรค์ วัฒนพานิช นายอำเภอบ้านไร่ คณะองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเอกชน และเกษตรกร ร่วมให้การต้อนรับ

นางสาวมนัญญา เปิดเผยว่า จังหวัดอุทัยธานี มีพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 326,923 ไร่ และมีโรงงานน้ำตาล จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร นับเป็นการเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกัน ซึ่งอ้อยนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี สำหรับการแพร่ระบาดของตั๊กแตนไฮโลไกลฟัส (ตั๊กแตนข้าว) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยมีตั๊กแตนระบาดกัดกินแปลงอ้อยของเกษตรกร ณ หมู่ที่ 2 ,8 ตำบลบ้านใหม่คลองเคียน และหมู่ที่ 4, 6 ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี รวม 4 หมู่บ้าน พบพื้นที่ระบาด 60 ไร่ และพื้นที่เฝ้าระวัง 300 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งหมด 19 ราย โดยพบร่องรอยใบอ้อยถูกตั๊กแตนกัดกินทำลายแหว่งเว้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้ผลผลิตอ้อยในปี 2563 มีจำนวนลดลง 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการป้องกันกำจัดให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งระดมทีมมือปราบตั๊กแตน ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยบ้านจัน ตำบลหนองจอก อำเภอบ้านไร่ เข้าทำการกำจัดด้วยวิธีกล คือ การใช้มือจับในเวลากลางคืน ผลการจับตั๊กแตนที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมจับตั๊กแตน จำนวน 155 คน สามารถจับตั๊กแตนได้ทั้งหมด 346 กิโลกรัม รวมตั๊กแตนทั้งหมด 429,040 ตัวโดยประมาณ มีมูลค่าการจำหน่าย 34,600 บาท อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีตั๊กแตนแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่แปลงอ้อยของเกษตรกรและพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคุมปริมาณของตั๊กแตนที่ระบาดให้ลดลง  โดยส่วนราชการและภาคเอกชนจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของตั๊กแตนในแปลงอ้อยให้มีปริมาณลดลงและไม่ให้ขยายวงกว้างต่อไป  

กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อยอุทัยธานีไทยเศรษฐ์ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ และโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร อำเภอสว่างอารมณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านใหม่คลองเคียน และตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จึงได้จัดงาน “รณรงค์กำจัดตั๊กแตนในแปลงอ้อย” ขึ้น เพื่อลดปริมาณตั๊กแตนในพื้นที่ระบาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งให้ลดลง บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร อีกทั้งให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธีโดยไม่ใช้สารเคมี และเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรทั่วไป โดยการจัดงานดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดความรู้เรื่องวงจรชีวิต สถานการณ์การแพร่ระบาด ลักษณะการทำลาย การป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี และการรณรงค์กำจัดตั๊กแตนด้วย “วิธีกล”หรือวิธีการจับตั๊กแตนโดยมีทีมจับตั๊กแตน ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วจำนวน 50 ราย มาร่วมรณรงค์การจับตั๊กแตนในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนตั๊กแตนที่ระบาดมีจำนวนลดลง 

 “ปัจจุบันการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นสิ่งต้องห้าม และหลายๆประเทศไม่ได้ใช้สารเคมีกันแล้ว สิ่งสำคัญที่น่าชื่นชม คือ การใช้วิธีป้องกันกำจัดด้วยวิธีกล โดยใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วและมือปราบตั๊กแตน ซึ่งเป็นพี่น้องเกษตรกรเข้ามาดำเนินการจับตั๊กแตน เป็นวิธีการป้องกันกำจัดที่ได้ผล เนื่องจากในช่วงกลางวันตั๊กแตนจะหลบสภาพอากาศที่ร้อนเข้าซ่อนตัวในบริเวณโคนกออ้อยและในวัชพืช ทำให้ยากต่อการป้องกันกำจัด ส่วนในช่วงพลบค่ำ ตั๊กแตนจะขึ้นจากบริเวณโคนกออ้อยมากัดกินใบอ้อยด้านบน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดตั๊กแตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีมาทำการฉีดพ่น ขณะเดียวกันเกษตรกรที่จับตั๊กแตนยังมีรายได้จากการขายตั๊กแตนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขายดีมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

จึงขอให้จังหวัดอุทัยธานี ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันกำจัดตั๊กแตนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดประชากรของตั๊กแตนให้ลดลง ตลอดจนเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นชุมชนต้นแบบในการป้องกันกำจัดตั๊กแตนด้วยวิธีกล ขยายผลไปยังหมู่บ้านหรือชุมชนอื่นหากพบการระบาด เนื่องจากเป็นวิธีการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจะนำแนวคิด “อุทัยธานีโมเดล” กำจัดตั๊กแตนด้วยวิธีการจับไปเผยแพร่ผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป” นางสาวมนัญญา กล่าว

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...