ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
กฎหมายดิจิทัลผ่านวาระ 1 สนช. 6 ฉบับ
15 ม.ค. 2562

พ.ร.บ.ไซเบอร์-พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการรับหลักการของ สนช.แล้ว กระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันกฎหมายที่สำคัญต่อการรองรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 173 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมทั้งได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 172 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง และได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เป็นผู้พิจารณาร่างไซเบอร์อีกด้วย คือ 1 คณะ พิจารณาทั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ. ต่อไป โดยกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ล่าสุด มีนางเสาวนีย์ สุวรรณชีพ เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ

ทั้งนี้ ข้อมูลร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... มีหลักการที่กำหนดให้การเก็บรวมรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อนจึงจะกระทำได้ เว้นแต่มีข้อยกเว้นตามที่ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว สามารถทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะได้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในบางเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป สมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปขึ้น และจะเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทุกคน โดยกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญกำหนดให้แยกบุคคล 3 ระดับ ได้แก่เจ้าของ ข้อมูล ผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปประมวลผล โดยหน่วยงานที่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูล

และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... เนื่องจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงทีสมควร กําหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสําคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศที่ จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดําเนินการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อ ความมั่นคงอย่างร้ายแรง ตลอดจนกําหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อันจะทําให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคาม ทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายดังกล่าว จะสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ในหลายประเทศ และหลายกรณีก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ฐานข้อมูลโรงพยาบาล ธนาคาร มีการปล่อยมัลแวร์ที่เหมือนไวรัสเข้ามาทำลายระบบการสื่อสารในระบบคอมพิวเตอร์

ดร.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติม พ.ร.บ. สำคัญอีก 4 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการลงมติในวาระที่ 1 รับในหลักการเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทุกฉบับ ได้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ด้วยแล้วทุกฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (2) ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. (3) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มหมวด การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล  (ชื่อเดิม (ร่าง) พ.ร.บ. การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... ) และ (4) ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... กําหนดให้จัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลในการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนา อุตสาหกรรมดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ส่งเสริมให้มีการรับรองคุณภาพ และมาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมตลอดจนเสนอแนะ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและอยู่ในระดับสากล กําหนดหน้าที่ และอํานาจตามวัตถุประสงค์ กําหนดข้อห้ามกระทําการของสภาในกรณีต่าง ๆ ที่มาของรายได้ รายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิกและผู้บริหารของสภาในรูปของคณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการดังกล่าว

โดยในการผลักดันร่างกฎหมายทุกฉบับในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมี่ความพร้อมสูงที่จะไปสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลในมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นปัญหาสากลที่ทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...