ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
เล็งเป้าภาคอีสาน ตั้ง รง.ผลิตรถไฟรับเมกะโปรเจกต์
09 ม.ค. 2562

คมนาคมสานต่อนโยบายตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า รองรับเมกะโปรเจกต์ “ทางคู่–รถไฟฟ้า–ไฮสปีดเทรน” เล็งเป้าภาคอีสาน เผย “ญี่ปุ่น–เกาหลี–เยอรมัน” รุมตอม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้าในประเทศไทยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการตามแผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางราง ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายทางทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมๆ กันนั้น จะเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลการให้บริการจะต้องใช้ขบวนรถ ตู้รถไฟ อะไหล่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ ที่เกี่ยวเนื่องในปริมาณที่มาก ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมจึงมีแนวนโยบายที่จะให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตโรงงานผลิตในไทยจะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ได้ด้วย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า ควรอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตได้ไม่เกิน 2-3 ปีนี้ หรือจัดตั้งได้ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสม รองรับการเติบโตของการลงทุนรถไฟและรถไฟฟ้าของภาครัฐ เบื้องต้นพบว่า สามารถจัดตั้งโรงงานได้ก่อน 1 โรงงาน รองรับกำลังการสั่งผลิตไม่น้อยกว่า 300 ตู้/ปี และจากการศึกษาสามารถตั้งโรงงานในไทยได้สูงสุด 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้/ปีในปี 2570 ขณะที่ญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตและประกอบรถไฟ 5 โรงงาน

สำหรับสาเหตุที่มีนโยบายจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟในไทย เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบราง รถไฟ หรือระบบอาณัติสัญญาณ จะต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ปัญหา โดยบุคลากรคนไทยไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันทีภายใน 2-3 ชั่วโมง บางครั้งต้องรออะไหล่กว่า 2-3 วัน

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า หากมีการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทยได้สำเร็จ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ารถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศลงได้ 10 เท่า จากเดิมที่มีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต-ประกอบในไทย จะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษา ได้อีกกว่า ปีละ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังสามารถส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต รวมทั้งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย เหมือนเช่นครั้งหนึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ หรือดีทรอย์ของเอเชีย

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีนักลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมัน ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาขอจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศไทย ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟขณะนี้นั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคมคือ 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการจัดตั้งกรมราง เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบราง 2.กระทรวงคมนาคมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ช่วยกันพิจารณาออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นคนกลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...