ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สทนช.เร่งศึกษาสร้างความสมดุลการใช้น้ำรองรับอีอีซี ให้แล้วเสร็จ มิ.ย.62
16 พ.ย. 2561

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.กำลังดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพื่อให้ได้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มภาคตะวันออกทั้ง 4 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การป้องกันอุทกภัย และการจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งเพื่อหาแนวทางอันนำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับความต้องการน้ำในอนาคต รวมถึงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก

นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor: EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่มีความสมดุลกับภาคการเกษตรและระบบนิเวศ โดยมีพื้นที่การศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2562


สำหรับขอบเขตการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกดังกล่าว จะทำการศึกษาทบทวนผลการศึกษาเดิมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นของกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมด พร้อมทั้งศึกษาความต้องการใช้น้ำทุกด้าน ปริมาณแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินในปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคต 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวอันเกิดจาก EEC และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรับมือด้วยมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม

ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC คือ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ปัจจุบันประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง รวมมีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกัก 1,353 ล้าน ลบ.ม. และมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากระจายในพื้นที่ พื้นที่กลุ่มจังหวัดมีน้ำท่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรีและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเสริมน้ำต้นทุนอีกไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงยังการพัฒนาโครงข่ายระบบผันน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำอื่นในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
ส่วนความต้องการใช้น้ำในอนาคตของ EEC ที่ได้มีการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะมีความต้องการใช้น้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม. นั้น เป็นการประมาณความต้องการใช้น้ำจากหน่วยงานด้านแหล่งน้ำ เมื่อปี พ.ศ.2560 จะต้องรอผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ที่ สนทช.กำลังดำเนินการศึกษาก่อน 

เนื่องจากยังไม่มีแผนหลักการพัฒนา ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในด้านการพัฒนาอุตสาห กรรม ที่ตั้งชุมชนใหม่ อัตราการขยายตัวของชุมชนเดิม ปริมาณนักท่องเที่ยว จำนวนประชากรแฝงหลังจากเกิดโครงการ EEC 

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น สทนช.ได้วิเคราะห์ ประมวลแผนงานสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ในช่วงระยะเวลา 5ปี (ปี 2562-2566) ประกอบด้วย 6 แผนงาน จะได้ปริมาณน้ำต้นทุนรองรับพื้นที่ EEC ประมาณ 366 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะมีการวางแนวทางการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำจากเทคโนโลยีการกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ และมาตรการประหยัดน้ำแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...