ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ เริ่มคืบ กสท-ดีป้า ยืนยันต้นปี 62 ได้เห็น
20 ก.ย. 2561

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กสท โทรคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้นำเสนอภาพรวมโครงการฯ รวมถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของโครงการ “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ในงาน Market Sounding ครั้งที่ 1

ทั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทย และต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุน เพื่อหาเอกชนในการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership : PPP) บนพื้นที่กว่า 800 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื่องจาก กสท โทรคมนาคม ไม่มีความชำนาญในการบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้ต้องหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงการขายพื้นที่ให้เอกชนมาเช่าใช้พื้นที่ด้วย

สำหรับการทำ Market Sounding ครั้งแรกนี้จะนำข้อเสนอแนะและความเห็นที่ได้รับจากการจัดงานไปประกอบการจัดทำข้อมูลโครงการในรายละเอียด และร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อนำเสนอในงาน Market Sounding ครั้งต่อไป ที่มีกำหนดจะจัดภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะพิจารณาข้อเสนอของเอกชน และประกาศผลการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการฯ ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

พ.อ.สรรพชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่เอกชนจะเข้ามาประมูลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่นั้น ไม่รวมพื้นที่ของกระทรวงพลังงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เนื่องจากที่ดินของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้ง 2 แห่ง รวมถึงพื้นที่ของดีป้า ในการสร้างสถาบันไอโอที ที่มีงบประมาณในการสร้างเป็นของตนเอง ซึ่งขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย ให้ความสนใจ จึงต้องรอดูว่าบริษัทไหนจะเสนอแผนธุรกิจได้ดีกว่ากันโดยโครงการนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการสร้างสถาบันไอโอทีกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ โดยใช้งบประมาณในการออกแบบ 128 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่งได้งบประมาณจากงบบิ๊กร็อกมาเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ ส่วนการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ม.ค. ด้วยงบประมาณ 1,480 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการสร้าง 2 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ภายในสถาบันไอโอที พื้นที่ 30 ไร่ จะประกอบไปด้วย 4 อาคาร คือ อาคารพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นการสร้างเป็นศูนย์ Maker Space เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการสร้างสินค้าต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ตารางเมตร จะเป็นศูนย์สำหรับการทดสอบ 5G, AI/IoT Lab

ส่วนอาคารที่ 2 และ 3 พื้นที่ใช้สอย 20,000 ตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมทั้งเรื่อง Industrial Mathematic Lab, VR & AR Lab, Testing Lab, Cloud Innovation Lab, Device Lab, Design Center และ Demonstration Space และอาคารที่ 4 เป็นการใช้งบสมาร์ทซิตี ต้องสร้างตึกให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อเป็นศูนย์ IOC (Institute Operations Center) พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานที่แสดงตัวอย่างสมาร์ทซิตีของประเทศไทย

“การพัฒนาพื้นที่โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ต้องไม่ได้มีแค่อาคารสำนักงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ความบันเทิง เหมือนเป็นเมืองใหม่เมืองหนึ่ง ซึ่งตอนนี้จีนและญี่ปุ่น สนใจที่จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่นี้อย่างมาก เราก็ต้องเลือกคนที่เสนอได้ดีที่สุดเข้ามาบริหาร” นายณัฐพล กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...