ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ปตท. รุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ทางรอดในยุคเทคโนโลยี
29 ส.ค. 2561

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถาโถม ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์และการดำเนินธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง แม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็อาจเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เตรียมเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันในอีกไม่ช้า ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ ญี่ปุ่น และจีน ที่ประกาศลดการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิล มาใช้พลังงานสะอาดแทน และได้เปิดตัวต้นแบบของรถยนต์ไฟฟ้ากันไปแล้ว โดยตัวเลขของรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่กว่า 3,000,000 คันทั่วโลก ส่วนหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมนั้น เนื่องจากประชากรโลกเริ่มกังวลเกี่ยวกับวิกฤตของสภาพภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงตอบโจทย์มากที่สุด

สำหรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งรัฐบาลได้ออกนโยบายด้านพลังงาน ที่มุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยได้มีการเริ่มทดลองบริการรถบัสไฟฟ้าและแท็กซี่ไฟฟ้าให้บริการตามท้องถนนบ้างแล้ว สัญญาณเหล่านี้ได้ส่งให้องค์กรที่ข้องเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซอย่าง ปตท. ต้องปรับโฉมธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก

ปตท. ได้สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า PTT EV Station พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดมลสารจากกระบวนผลิตไฟฟ้าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เพื่อเตรียมรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง โดยติดตั้งแล้วเสร็จทั้งสิ้น 21 สถานีบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมนำร่องเปิดใช้บริการเป็นบางสาขา และในปีนี้ ได้เตรียมลงทุนอีก 50 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 70 สถานี พร้อมพัฒนาซอฟต์แวร์ในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นอกจากนี้ ปตท. ยังมองหาโอกาสในการศึกษาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายราย รวมถึงเริ่มศึกษาโครงการผลิตแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงาน (Battery Storage) และพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้นำทางด้านพลังงานอย่างครบวงจรอีกด้วย

สำหรับคำถามที่ว่าแล้วรถยนต์ไฟฟ้ามีดีอย่างไรจึงทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยหันมาพัฒนาการใช้งานอย่างไม่หยุดยั้ง? รถยนต์ไฟฟ้าขนาดมาตรฐาน 1 คัน นอกจากจะประหยัดน้ำมัน ที่ลดการใช้น้ำมันดิบลงประมาณ 24,507 ลิตร หรือ 154 บาร์เรล/ปีแล้ว ยังสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 44 ตัน/ปี รวมถึงก๊าซจากไอเสียประเภทอื่นๆ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 0.16 กิโลวัตต์/ชั่วโมง หรือแค่ 50 สตางค์/กิโลเมตร ใช้เวลาชาร์จไฟแบบ DC Quick Charge เพียง 30 นาที และ AC Normal Charge ตามขนาดของแบตเตอรี่ ทั้งนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำอีกด้วย ทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋าของผู้ขับขี่ได้เกือบ 5 เท่า เทียบง่ายๆ ก็คือ เงินที่ใช้เติมน้ำมันสำหรับขับไปทำงาน สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสบายๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างสูง แต่ประชาชนส่วนมากยังขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการใช้งานและการชาร์จไฟฟ้า ที่สำคัญ รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในระดับมาตรฐาน ประกอบกับการจูงใจของรัฐบาลที่ยังส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือแม้กระทั่งมาตรการภาษีที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ ดังนั้น ปตท. รวมถึงผู้ผลิตรายอื่น จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้ใช้งานง่ายไม่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป และพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนหลักให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ หรือติดตั้งในที่พักอาศัยและที่ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกตรงความต้องการผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้องค์กรก้าวทันและเติบโตภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ผู้นำความมั่นคงด้านพลังงานระดับโลกแล้ว ยังจะนำไปสู่สภาพภูมิอากาศของโลกที่ดีกว่าในวันข้างหน้าอีกด้วย

“ถ้าไม่กล้าที่จะเปลี่ยน...ก็อาจไม่มีโอกาสได้เห็นโลกที่ดีขึ้น”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...