ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
'กฤษฎา' พลิกมาตรการ 4 ด้าน เร่งแก้สินค้าเกษตรราคาร่วง
12 ก.ค. 2561

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรต่างทำเกษตรกรรมโดยไม่มีการวางแผนการผลิตทางเกษตรกรรม หรือวางแผนทำการเกษตร ซึ่งเป็นการไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค และเมื่อผลผลิตออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ผลผลิตเหล่านั้นล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำและนำมาซึ่งการเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดทุน หรือการรับจำนำ หรือการประกันราคาผลผลิตที่ไม่อิงราคาตลาด หรือขอให้ใช้งบประมาณรัฐมาซื้อผลผลิตในราคานำตลาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันยังมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆตามฤดูกาลผลิตตลอดมาเป็นระยะๆ

ดังนั้น เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองผู้มีอาชีพเกษตรกรรมจำนวนประมาณ 7 ล้านครอบครัว หรือ 24 ล้านคน จึงได้สั่งการถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เร่งดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผนและปฏิบัติตามแผนการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเกษตรกรรม ซึ่งในเบื้องต้นการวางแผนของ กระทรวงเกษตรฯทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จะมีการวางแนวทางไว้ 4 ด้าน คือ

1.ถ้ากระทรวงเกษตรฯและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตร ควรกำหนดชนิดหรือประเภทของพืชและหรือปศุสัตว์อะไรบ้าง ที่ควรบรรจุอยู่ในแผนการผลิตและควรมอบหมายให้หน่วยงานใด หรือควรแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยใดบ้างให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหรือกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมของประเทศ

2.ในแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมข้างต้นควรมีรายละเอียดหรือองค์ประกอบในแผนการผลิตอย่างไรบ้าง

3.ขอให้นำ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้วมาพิจารณาว่า มีสาระหรือบทบัญญัติที่จะนำมาใช้ดำเนินการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมได้หรือไม่ รวมทั้งให้ศึกษาว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกษตรกรปฏิบัติตามแผนการผลิต ทั้งนี้อาจนำจุดแข็งและจุดอ่อนของการวางแผนข้าวครบวงจร หรือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลมาพิจารณาประกอบด้วยก็ได้และ

4.กระทรวงเกษตรฯ ควรกำหนดเงื่อนไข หรือควรจัดบริการใดๆ (Incentives)ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน หรือแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างจริงจังต่อไป พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรกรรมดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนด้วย

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนดูแลสวัสดิการเกษตรกร นายกฤษฎา เปิดเผยว่า คงใช้เวลา 1 เดือน ดำเนินการวางแผนและหางบสนับสนุนเพิ่มเติม โดยขยายผลจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรที่มีทุนอยู่ 2,900 กว่าล้านบาท นำมาดำเนินการต่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมกว่า 24 ล้านคนได้จริง ภายหลังที่กระทรวงเกษตรฯ รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ พบปัญหาหลักๆ เกษตรกรมีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

โดยกองทุนนี้จะมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทำการเกษตรตามแผนของกระทรวงเกษตรฯ หรือเป็นลักษณะเกษตรพันธะสัญญา เมื่อเกิดปัญหากระทบต่อผลผลิตเกิดความเสียหาย เช่น ราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ จะได้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืช ทำเกษตรอื่นๆ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด จะทำให้ปัญหาภาคเกษตรได้รับการดูแลแก้ไขอย่างครบวงจร

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...