ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ตลาดจีนตอนใต้หนุนค้าชายแดนไทย
22 ต.ค. 2558

การสนับสนุนการค้าชายแดนไทยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของทางการในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทย โดยมีการตั้งเป้ามูลค่าการค้าชายแดน แตะระดับ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2560 ทั้งนี้ ในปี 2557 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและมาเลเซีย รวมถึงการค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศใกล้เคียง ประกอบด้วย จีน สิงคโปร์และเวียดนาม อยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 57 ของมูลค่าการค้าผ่านชายแดนทั้งหมด จึงถือเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนภาคการส่งออกโดยรวมของไทยที่ยังคงอ่อนแรงและไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน

                 ทั้งนี้  มูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนตอนใต้ ที่แม้จะครองสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าส่งออกผ่านชายแดนโดยรวม กลับขยายตัวกว่าร้อยละ 38.7  จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนไทยไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งออกผ่านชายแดนไปยัง CLMV ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.5จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตัวของการส่งออกผ่านแดนจากไทยไปยังจีนตอนใต้  ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อพัฒนาการการค้าชายแดนหรือผ่านแดนของไทยในภาพรวม

                 ปัจจุบัน เส้นทางหลักขนส่งสินค้าทางบกผ่านชายแดนจากไทยไปจีนตอนใต้ ประกอบด้วยเส้นทางกรุงเทพ-กว่างซีผ่านด่านนครพนม (R12) และมุกดาหาร (R9) และเส้นทางกรุงเทพ – ยูนนานผ่านด่านเชียงราย (R3A) ซึ่งการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมทางบกที่เชื่อมโยงระหว่างไทยและจีนอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการไทยเข้าถึงและตอบสนองต่อความต้องการสินค้าภายในยูนนานและกว่างซี ส่งผลให้การส่งออกผ่านแดนจากไทยไปยังจีนมีโมเมนตัมการขยายตัวสูง เทียบกับการส่งออกจากไทยไปจีนในภาพรวมที่หดตัวไปถึงร้อยละ 5.4 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558

                 บริเวณกว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมาเป็นระยะ จนกลายเป็นคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ของจีน เชื่อมต่อโดยตรงกับเมืองกวางโจวและเสินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้งอันเป็นเขตเศรษฐกิจแถบชายฝั่งที่มีการพัฒนาทั้งทางด้านการค้าและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทำให้การส่งออกสินค้าผ่านแดนจากไทยไปยังจีนตอนใต้ ส่วนใหญ่มีจุดหมายหลักอยู่ที่กว่างซีสะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกไปยังกว่างซีผ่านด่านนครพนมและมุกดาหารคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70  ในขณะที่การส่งออกผ่านด่านเชียงรายคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนตอนใต้

          นอกจากนี้  หากพิจารณาโครงสร้างการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปกว่างซีเปรียบเทียบกับยูนนาน จะพบว่า มีความแตกต่างกัน คือ สินค้าส่งออกไปกว่างซีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์และวงจรพิมพ์ ซึ่งขยายตัวกว่าร้อยละ 150 จากช่วงเดียวกันปีก่อน  ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าผ่านแดนของไทยไปยังกว่างซีในภาพรวม ผ่านด่านนครพนม/มุกดาหารเติบโตถึงร้อยละ 61.1  ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยูนนานผ่านด่านเชียงรายโตร้อยละ 90  ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นเพื่อการบริโภค ได้แก่ ผักและผลไม้  ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 การส่งออกสินค้าผ่านแดนผ่านเส้นทาง R3A ไปยังยูนนานมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 14.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน  ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดเส้นทาง R3A ช่วงแรกๆ ในปี 2551 รวมถึงการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ในช่วงปลายปี 2556 จะทำให้มูลค่าการส่งออกผ่านด่านเชียงรายเติบโตอย่างก้าวกระโดด  ทว่าในระยะข้างหน้า ศักยภาพการเติบโตของการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปยังยูนนานซึ่งไม่ใช่ฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงมีข้อจำกัดที่โครงสร้างสินค้าออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้น ราคาไม่สูงนักและอุปสงค์ต่อสินค้าดังกล่าวคงไม่สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของเส้นทาง R3A เป็นการเปิดประตูสู่บริเวณจีนตอนใน  ซึ่งมีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่ทางการจีนให้ความสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการกระจายความเจริญสู่จีนตะวันตก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เส้นทางการคมนาคมขนส่งที่ต่อเนื่องยังเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดจีนตอนใน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยเข้ากับห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ดังกล่าว

                ดังนั้น ศักยภาพในการขยายตัวของสินค้าส่งออกผ่านแดนจากไทยไปจีนยังคงมีอีกมาก ผ่านการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างไทยและจีนผ่านเส้นทาง R3A ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่ง สินค้าไปยังภูมิภาคจีนตอนใน อันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต อาทิเช่น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ไทย – จีน ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สอดคล้องตามข้อตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดน (The Cross-Border Transport Agreement: CBTA) อาทิเช่น การประกาศร่างพรบ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไทยในการออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกราชอาณาจักรฯลฯรวมถึงการเจรจาของทางการไทยและจีนที่รวมเอาสปป.ลาว/เวียดนามให้เข้ามามีส่วนร่วม อาจช่วยกำจัดอุปสรรคได้

นอกจากนี้ กำแพงภาษีที่อาจส่งผลต่อต้นทุนของคู่ค้าจีนที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาก่อนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังจีนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของความร่วมมือทางการค้าในระดับภูมิภาค อาทิเช่น ความตกลงทางพันธมิตรเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ฯลฯ คงมีบทบาทในการช่วยลดกำแพงภาษีของสินค้าส่งออกจากไทยไปยังจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...