ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
สศก.คาดข้าวนาปรังปีนี้ 7.8 ล้านตัน พร้อมเดินหน้า 5 โครงการตามแผนฯ
16 มี.ค. 2561

สศก. คาด ข้าวนาปรังปี 2560/61 ผลผลิต 7.8 ล้านตัน ราคาตั้งแต่ต้นปียังอยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ยตันละ 7,748 บาท โดยผลผลิต 58% พร้อมออกสู่ตลาดเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ ด้านกระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับมือเดินหน้าโครงการปรับพื้นที่ปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 รวม5 โครงการ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าวนาปรังปีเพาะปลูก 2560/61 โดยผลพยากรณ์เบื้องต้น (ข้อมูล ณ 20 กุมภาพันธ์ 2561) คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปรัง ปีเพาะปลูก 2560/61จะมีปริมาณ 7.8 ล้านตัน ซึ่งเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ หากมีการบริหารจัดการที่ดี

สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ 665 กก.ต่อไร่โดยข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวเจ้าอื่นๆ และข้าวเหนียว มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื้อที่เพาะปลูก คาดว่ามีจำนวน11.9 ล้านไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และแหล่งน้ำตามธรรมชาติเมื่อต้นฤดูมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม

ด้านราคา ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีมาถึงขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม –กุมภาพันธ์ 2561) เฉลี่ยตันละ 7,748 บาท สูงขึ้นจากตันละ 7,438 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 4.17) ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 61 ประมาณร้อยละ 58 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้เตรียมการเพื่อให้การผลิตข้าวสอดคล้องกับความต้องการตลาด จึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการปรับพื้นที่ปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 (ข้าวนาปรัง) ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต) จำนวน 5 โครงการดังนี้

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชให้เหมาะสม ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 536.69 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กรมส่งเสริมการเกษตร)

เป้าหมาย 150,000 ไร่ ใน 53 จังหวัด โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ และ 2) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กรมพัฒนาที่ดิน) เป้าหมาย200,000 ไร่ ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ไร่ละ 5 กก.และสนับสนุนค่าไถ 2 ครั้งๆ ละ 500 บาท

ต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการปรับพื้นที่ปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต)อีกจำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 1,687.15 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กรมส่งเสริมการเกษตร)เป้าหมาย 300,000 ไร่ ใน 53 จังหวัด โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ 2) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561(กรมพัฒนาที่ดิน) เป้าหมาย 200,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ไร่ละ 5 กก. และสนับสนุนค่าไถ 2 ครั้งๆ ละ 500 บาท และ 3) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561(กรมปศุสัตว์) เป้าหมาย 400,000 ไร่ ใน 28 จังหวัด โดยสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอาหารสัตว์ (ต้นข้าวโพดพร้อมฝัก และเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งตรวจสอบแนวโน้มการปลูกข้าวนาปรังปี 2560/2561 เนื่องจากได้รับรายงานว่าในพื้นที่ภาคกลางเริ่มปลูกข้าวรอบสอง หรือข้าวนาปรังกันมาก เพราะปี 2560 ที่ผ่านมาข้าวมีราคาดีและในปีนี้ในเขื่อนมีน้ำมาก จึงกังวลว่าปีนี้จะปลูกข้าวเกินกว่าเป้าหมาย 8 ล้านไร่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ต้องการทราบตัวเลขที่แท้จริงในทุกพื้นที่เพื่อวางแผนรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะปัญหาราคาตกต่ำหากมีปริมาณข้าวออกมาจำนวนมากและแผนบริหารจัดการน้ำ โดยขอให้เร่งประชาสัมพันธ์โครงการลดพื้นที่ปลูกข้าวปลูกพืชผสมผสานที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณไว้

นอกจากนี้ ได้ขอให้จังหวัดพื้นที่ปลูกข้าวตรวจสอบว่าชาวนามีแนวโน้มจะทำนานอกฤดูมากน้อยเท่าไร รวมทั้งตรวจสอบชาวนาที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชอื่นๆ แทนการทำนานอกฤดูและรับค่าชดเชยไปแล้วว่าได้ทำตามสัญญาหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ระงับการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวไว้ด้วย โดยให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรายงานสถานการณ์การทำนานอกฤดูให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบทุกระยะ และให้ประสานขอข้อมูลความต้องการผลผลิตพืชหลังนา เพื่อแจ้งกับเกษตรจังหวัดให้ทราบว่าจะมีตลาดรับซื้อพืชไว้รองรับอย่างไรบ้าง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...