ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คืบหน้าโมโรเรล 5 เมืองภูมิภาค สนข.ชงเดินหน้าภูเก็ต-เชียงใหม่
18 ม.ค. 2561

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน ได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใน 5 เมืองภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมาและหาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาจราจร คิดเป็นเงินลงทุนรวม 131,525 ล้านบาท

โดยขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายให้เร่งโครงการที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ ซึ่งจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30 ปี 40 ปี และ 50 ปี โดยรัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบ ซึ่งโครงการถูกบรรจุไว้ใน PPP Fast Track ปี 2560 แล้ว

ทั้งนี้ จะเดินหน้าภูเก็ตก่อน โดยกระทรวงมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP จะเป็นรูปแบบสัมปทาน หรือจ้าง เพราะ สนข.ศึกษาแค่แผนแม่บทให้เป็นระบบไหนถึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ รฟม.ซึ่งรองนายกฯ ต้องการจะให้ได้ผู้ลงทุนภายในปี 2561

เนื่องจากภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากกว่า 12 ล้านคน ผลการศึกษาความเหมาะสมที่ออกมาเป็นรถไฟฟ้ารางเบาหรือไลต์เรล เป็นเส้นทางสายใหม่จากสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ระยะทาง 58.25 กม. เงินลงทุนทั้งโครงการ 39,406.06 ล้านบาท

สำหรับจุดเริ่มต้นจะอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี ถึง จ.พังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง บน ถ.เจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง ประมาณ 200 เมตร มี 24 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานีที่สนามบินภูเก็ต เป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานี ที่สถานีถลาง และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณ อ.ถลาง แบ่งสร้าง 2 เฟส ระยะแรกจากท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต และระยะที่ 2 จากสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง

ทางด้านเชียงใหม่ ผลการศึกษาเสร็จแล้วและเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบและวงเงินลงทุนโครงการ เนื่องจากเงินลงทุนโครงการแตกต่างกันมากถึง 3 เท่า ระหว่างการก่อสร้างระดับดินผสมใต้ดินและใต้ดินทั้งหมด เมื่อกระทรวงได้ข้อสรุปแล้ว จะนำเสนอให้ คจร.พิจารณาต่อไป ก่อนจะเริ่มขั้นตอน PPP

โดยรูปแบบที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา สร้างอยู่ในพื้นที่เขตเมือง มี 3 เส้นทางให้เลือก ระหว่าง เป็นทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกัน เงินลงทุนรวม 106,895 ล้านบาท และทางวิ่งบนดินทั้งหมด เงินลงทุน 28,419 ล้านบาท

ได้แก่ 1.สายสีแดงโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่-สถานีขนส่งช้างเผือก-โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง

2.สายสีเขียวแยกรวมโชค-แยกแม่โจ้-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล-สถานีขนส่งอาเขต-โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่-ร.ร.ดาราวิทยาลัย-ร.ร.ปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย-ตลาดวโรรส (กาดหลวง)-เทศบาลนครเชียงใหม่-ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ร.ร.เรยีนาเชลีวิทยาลัย-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย-เชียงใหม่แลนด์-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา-เชียงใหม่แอร์พอร์ต-มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น-สนามบินเชียงใหม่

และ 3.สายสีน้ำเงิน สวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-แยกตลาดต้นพยอม-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่-วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร-ประตูท่าแพ-ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ตลาดสันป่าข่อย-สถานีรถไฟเชียงใหม่-แยกหนองประทีป-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีดอนจั่น-ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา

ส่วนขอนแก่น ผอ.สนข.กล่าวว่า ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง สนข.ศึกษาเป็นแผนแม่บทอย่างเดียว ส่วนการลงทุนอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล หากเอกชนท้องถิ่นสนใจจะลงทุนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน PPP รูปแบบโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเบา แนวเส้นทางเชื่อมการเดินทางแนวเหนือ-ใต้ จากบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ ระยะทางประมาณ 22.8 กม. มี 16 สถานี เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

“การที่เอกชนท้องถิ่นยื่นประมูลโครงการยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ สนข.ศึกษาแผนแม่บทไว้ เมื่อเสร็จแล้วเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอกลางเดือน ม.ค.นี้ เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการ อาจจะให้ รฟม.ดำเนินการเหมือนที่ภูเก็ต และให้เอกชนร่วม PPP งานระบบและจัดหารถ”

ด้าน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล เริ่มจากคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. มีสถานี 12 สถานี มูลค่าลงทุน 16,100 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแก้รายงานอีไอเอ

ขณะที่นครราชสีมา ผลศึกษาใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา เป็นระบบหลักในการเดินทางและมีระบบรถโดยสาร เป็นระบบรอง เงินลงทุน 32,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส ระยะแรก เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ระยะที่ 2 เงินลงทุน 4,900 ล้านบาท และระยะที่ 3 เงินลงทุน 13,600 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...