ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กฟผ. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเขื่อนภาคอีสานช่วงมรสุมที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด
10 ต.ค. 2560

กฟผ. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนพื้นที่ภาคอีสานอย่างใกล้ชิด แต่ละเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากอิทธิพลของพายุหลายลูกในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งตุลาคมนี้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เร่งช่วยเหลือและส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยมากกว่า 800 ชุด

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุ “ตาลัส”, “เซินกา” และหย่อมความกดอากาศต่ำที่สลายตัวจากพายุ “ฮาโตะ” ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำหลากในหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเขื่อนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำสูงเกินกว่าเกณฑ์ควบคุม (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2560) ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 102 ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย ส่งผลให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่เกินวันละ 34 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำให้ระบายได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งลำน้ำพองและลำพะเนียง, เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 100, เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 1,616 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 166 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 100

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ เขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 8,871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66, เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 7,821 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ซึ่งปัจจุบันทั้งสองเขื่อนหยุดการระบายน้ำระหว่างวันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2560 ตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 และจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำแม่จาง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ความจุ 102 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ในพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม จึงจำเป็นต้องเปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำจาง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่มีพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำเขื่อน กฟผ. เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ การระบายน้ำในแต่ละครั้ง กฟผ. ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันผลกระทบจากการระบายน้ำ เป็นไปตามข้อกำหนดและการปฏิบัติเรื่องการระบายน้ำ

สำหรับในพื้นที่ประสบอุทกภัย กฟผ. ได้ทยอยลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้ส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ชุมชนโดยรอบเขื่อนจุฬาภรณ์ 500 ชุด และชุมชนโดยรอยเขื่อนอุบลรัตน์ 300 ชุด รวมทั้งสิ้น 800 ชุด ซึ่ง กฟผ. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...