ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ชาวแม่เมาะ ใช้สิทธิการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็น ค.3 โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 อย่างเนืองแน่น
25 ก.ย. 2560

บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอขอบคุณชาวอำเภอแม่เมาะ ที่พร้อมใจกันมาร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทบทวนร่างรายงาน EHIA หรือ ค.3 โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 อย่างเนืองแน่น จำนวน 2,309 คน และร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา ถึง 51 คน แสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จากนี้จะจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อส่ง สผ. พิจารณาต่อไป 

นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 - 7 โดยมี ประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ได้แก่ ตำบลแม่เมาะ ตำบลสบป้าด ตำบลนาสัก ตำบลบ้านดง และตำบลจางเหนือ รวมถึง หน่วยงานราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นถึงจำนวน 2,309 คน โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจาถึงจำนวน 51 คน ต้องขอขอบคุณชาวแม่เมาะที่ร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะความคิดเห็นเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และจะทำให้บ้านเมืองมีการพัฒนาต่อไป 

ดร. เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 และการประเมินและจัดทำรายงาน (ค.2) เมื่อวันที่ 13 – 16 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำข้อมูลมาเพื่อจัดทำมาตรการต่าง ๆ ให้ลดข้อห่วงกังวลของประชาชน และมาชี้แจงในประเด็นสำคัญ อาทิ เรื่องการทำ EHIA ใหม่ สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เพราะถือเป็นการก่อสร้างเพื่อสาธารณประโยชน์ในฐานะองค์กรของรัฐ จึงได้รับการยกเว้นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการขอใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาต รง.4 กฟผ. สามารถใช้สิทธิของเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่ โดยไม่เข้าข่ายการขยายโรงงาน ทั้งนี้ EHIA ใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบ จึงจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ 

สำหรับเรื่องขอบเขตพื้นที่ศึกษา ได้กำหนดให้ครอบคลุมทั้ง 5 ตำบลของอำเภอแม่เมาะ คือ ตำบลแม่เมาะ ตำบลสบป้าด ตำบลนาสัก ตำบลบ้านดง และตำบลจางเหนือ เรื่องการจ้างงานในพื้นที่ จะมีการกำหนดเป็นนโยบายปฏิบัติให้พิจารณาคัดเลือกคนในอำเภอแม่เมาะเข้ามาทำงานเป็นอันดับ โดยปัจจุบัน มีการจ้างงานท้องถิ่นในชุมชนแม่เมาะ จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,835 คน

ส่วนการแก้ปัญหาอุบัติเหตุและจราจร มีการการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของผู้สัญจรอย่างชัดเจน โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนและกำหนดมาตรการลงโทษผู้ขับรถบรรทุกเถ้าลอยหรือรถบรรทุกยิปซัม และหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการซื้อขายอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดเตรียมรถกู้ภัยและดับเพลิงสำหรับกรณีฉุกเฉิน 

สำหรับการแก้ปัญหาอาชญากรรมจากแรงงานต่างถิ่น มีการกำหนดมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด ไม่ให้ทำผิดกฎหมายหรือก่อปัญหากับชุมชน นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการใช้บริการด้านสุขภาพของแรงงานต่างถิ่น โดยจัดให้มีห้องพยาบาล เจ้าหน้าที่ และรถฉุกเฉิน ตลอดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างไว้ด้วย

นอกจากนี้ เรื่องการบริหารจัดการเถ้าลอย มีแนวทางให้ชุมชนจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อซื้อเถ้าลอยจาก กฟผ. โดยปัจจุบันได้รับความเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำให้เป็นไปตามระเบียบ กฟผ. ด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กฟผ. จ่ายเงินตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ส่วนการบริหารจัดการจะมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการลดฝุ่นและเสียงในขณะก่อสร้าง และการดูแลแหล่งน้ำให้สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน

ด้าน ว่าที่ พ.ต. ดร. อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. เปิดเผยว่า ขอขอบคุณชาวแม่เมาะที่พร้อมใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นอย่างเนืองแน่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นถึงจำนวน 2,309 คน และมีแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาถึงจำนวน 51 คน โดยหลังจากเวที ค.3 ในครั้งนี้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด จะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพิจารณา และปรับปรุงให้เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอต่อ สำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นผู้พิจารณา หากคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะก็ยังสามารถปรับแก้ไขรายงานได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า กฟผ. มีการดำเนินงานตามข้อบังคับของกฎหมายทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...