ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
สศก. รุกกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหาร ชู 3 นโยบายหลัก เพื่อความมั่นคงตลอดห่วงโซ่
16 พ.ย. 2558

 

 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รุกการดำเนินงานความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของไทย ชูข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญสู่การขับเคลื่อนด้านความมั่นคงด้านอาหาร 3 นโยบายหลัก ได้แก่ โซนนิ่งภาคเกษตร เกษตรปราดเปรื่อง และเกษตรกรรมความแม่นยำสูง

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของไทย ซึ่งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้ดำเนินการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2555–2559) โดยคำนึงความเหมาะสมต่อศักยภาพและบริบทของไทย บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยุทธศาสตร์หลักของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้เป็นแผนชี้นำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติงาน

สำหรับกรอบยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว มีวิสัยทัศน์ ว่า “ประเทศไทยผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อชาวไทยและชาวโลก” มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน 3 คณะ คือ คณะกรรมการด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่  มี สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการ  คณะกรรมการด้านคุณภาพและความปลอดภัย มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นฝ่ายเลขานุการ และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงอาหารและโภชนาการ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี  ซึ่งมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นฝ่ายเลขานุการ

ในส่วนของคณะกรรมการด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่นั้น ในปีนี้ สศก. ได้มีการจัดประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงด้านอาหาร 3 นโยบายหลัก ได้แก่

นโยบาย Zoning ภาคเกษตร นำเสนอผลการดำเนินโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (ระบบ What 2 Grow ของ สวทช.) ในจังหวัดกำแพงเพชร เน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยมีปัจจัยในการพิจารณา คือ ผลกำไร/ขาดทุน ที่ดินที่เหมาะสม แหล่งน้ำ ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย และในปี 2559 จะขยายโครงการระยะที่ 2 ในอีก 16 จังหวัด

นโยบาย Smart Farmer/Smart Officer นำเสนอโครงการพัฒนาเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตรปราดเปรื่อง     ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ ปี 2555 มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาให้ “เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer โดยมี Smart  Officer  เป็นเพื่อนคู่คิด” ซึ่งแนวคิด คือ เกษตรกรไทยต้องมีความรู้ในเรื่องการเกษตรที่ทำอยู่ สามารถประมวลข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตร โดยตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรไทย โดยมีโครงการนำร่องในจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา มีการจัดตั้งเกษตรกรต้นแบบ มีการปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัด และระบบการขนส่งสินค้าเกษตร

นโยบาย Precision Farming เกษตรกรรมความแม่นยำสูง เป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากร ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ โดยต้องมีพื้นฐานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านสารสนเทศ ด้านเทคโนโลยี และด้านการบริหารจัดการ โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูกและสภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นามีความแตกต่างกันในแต่ละบริเวณหรือพื้นที่ย่อยๆ และถึงแม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม แต่สภาพล้อมรอบที่แตกต่างกันนั้น มีผลผลิตแตกต่างกันได้ ดังนั้น จึงต้องดูแลพื้นที่เหล่านั้นแตกต่างกันเพื่อสร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมดังกล่าว สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นไปประมวลผล        เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติต่อไป

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...