ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
รมว.เฮ้งสั่งหาต้นตอแก้งค์หลอกสาวค้ากามดูไบ
22 ก.ย. 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีหญิงไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดียว่า ถูกหลอกให้มาขายบริการที่เมืองดูไบ จนภายหลังได้เข้าช่วยเหลือกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้วนั้น ล่าสุด ได้สั่งการศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน ให้เร่งขยายผลไปที่ต้นตอกระบวนการนายหน้าเถื่อนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ขอเตือนไปยังผู้มีพฤติการณ์เป็นสายนายหน้าเถื่อนว่า การหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ขอฝากความห่วงใยถึงคนหางานทุกท่าน ขออย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือโฆษณาเกินจริงดังกล่าว หากมีการชักชวนให้หลีกเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเพื่อทำงาน หรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนหางาน ณ ท่าอากาศยาน ให้สงสัยได้เลยว่าท่านกำลังโดนหลอก ซึ่งจะทำให้ท่านเสียเงินในการถูกหลอกลวงไปทำงาน เกิดอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย

ทางด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือคนหางานที่ทำงานทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นภารกิจของศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน โดยผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 7 ก.ย. 2564 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 93 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 195 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 17,500,365 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้), สวีเดน และออสเตรเลีย ตามลำดับ

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีมาตรการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ดังนี้

1. ด้านการป้องกัน โดยให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ประชาชนและคนหางานทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ประกาศคำเตือน รูปแบบ หรือกลวิธีการหลอกลวงคนหางานของสาย/นายหน้า ผ่านสื่อต่างๆ หรือหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ทางสายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

2. ด้านการป้องปราม มอบหมายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคคลที่โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งโพสต์ข้อความตอบโต้เพื่อสกัดกั้นการโฆษณาชักชวนดังกล่าว เพื่อมิให้คนหางานตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ให้มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแล และแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการทราบ และตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางานเพื่อป้องกันการลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกชักชวนไปทำงานอย่างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

3. ด้านการปราบปราม ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประสานการติดตามการออกหมายจับจากพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...