ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
นายกฯสั่งวัคซีนเพิ่ม-ยาฟาวิฟราเวียร์สู้โควิด-19
31 ก.ค. 2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันว่า รัฐบาลและศบค. ทำงานทุกวันต่อเนื่อง มีการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน โดยยึดหลักการสำคัญ คือ การร่วมมือร่วมใจภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประเทศของเราปลอดภัยจากโรคโควิด-19โดยเร็ว ซึ่งผลการหารือวันนี้ทั้งข้อมูลและข้อสังเกตจากโรงพยาบาลเอกชนจะได้นำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ต่อไป

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลและศบค. ทำงานแบบบูรณาการ เพราะวันนี้ประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงครามโรค โดยมีความพยายามลดจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด ยืนยันว่ารัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ฯ 5 แสนล้านไว้รองรับแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมจัดหาเวชภัณฑ์ไว้เพียงพอ ทั้งยาฟาวิฟิราเวียร์ ตอนนี้ไทยสามารถผลิตได้ 200,000 เม็ดเดือนหน้าผลิตได้ 3,000,000 เม็ด ที่เหลือจะนำเข้าจนครบ 60,000,000 เม็ดในเดือนกันยายน ในส่วนของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19  คือ มีการจัดหาวัคซีนโดยรัฐเพื่อให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย วัคซีนทางเลือก และวัคซีนที่ได้รับบริจาค 

“ขอยืนยันว่า ทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนตามสัดส่วนประชากรและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ขอยืนยันว่า วัคซีนของรัฐ ไม่มีตกหล่นหรือหายไป ที่สำคัญขอให้มั่นใจว่าทุกยี่ห้อที่นำเข้าโดยรัฐบาลมีความปลอดภัย สามารถช่วยลดอาการรุนแรงของโรคได้ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดหาได้เองเพื่อเป็นวัคซีนทางเลือก ขอยืนยันนายกรัฐมนตรีและ ศบค. ไม่มีการรวบอำนาจ แต่เป็นทำงานโดยรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขให้ตอบสนองกับสถานการณ์ให้มากที่สุด”นายอนุชากล่าวอ้างอิงคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ 

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังรับทราบข้อห่วงใยของโรงพยาบาลเอกชนในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายและการคุ้มครองการทำงานของแพทย์ การตรวจคัดกรอง การจัดส่งผู้ป่วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำงานทุกวัน เพื่อให้กระบวนการอนุมัติสำหรับ Hospitel เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อสามารถดึงบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล จากโรงพยาบาลเอกชนและเครือข่ายให้มาร่วมดูแลผู้ป่วยให้มากยิ่งขึ้นได้ 

ขณะเดียวกันมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สปสช. เข้ามาดูแลกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ให้ความมั่นใจกับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลคนไข้ให้มากที่สุด

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลทำงานทั้งเชิงรุก คือ การเตรียมขยาย รพ. บูรณาการร่วมกันของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในเครือและนอกเครือ ภายใต้กรอบอันเดียวกัน ได้แก่ การบริหารข้อมูล การส่งต่อ การคัดกรอง มีการรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความแตกต่างคือ ในส่วนโรงพยาบาลรัฐ ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่ในภาคเอกชนอาจมีการเสียค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหารอการตรวจคัดกรองได้เสนอให้เมื่อมีการตรวจด้วย ชุดตรวจเร็ว ATK อาจให้จัดเข้าสู่ระบบ HI/CI หรือส่งไปยังศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม เพื่อให้เข้าถึงการดูแลเบื้องต้น โดยให้ดำเนินการทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อช่วยคลายความกังวลของผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังได้สั่งการกระทรวงกลาโหม และกองทัพ เข้ามาช่วยดูแลประชาชน บูรณาการทุกภาคส่วน จัดระบบแพทย์ พยาบาล โดยนำนักเรียนแพทย์ชั้นปีสุดท้ายเข้ามาช่วยดูแล เพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งจัดชุดเดินตรวจในชุมชนต่างๆ ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพยายามสร้างสังคมที่ดูแลกันเป็นพื้นที่สีฟ้า ที่เพื่อนบ้านใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน

นายอนุชากล่าวว่า ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจกรมควบคุมโรค ที่ได้มีการปรับการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 เน้นการให้ข้อมูลที่มีการแยกตัวเลขประเภทผู้ติดเชื้อที่ชัดเจน การนำเสนอตัวเลขผู้ป่วยหายกลับบ้าน เป็นสื่อสารสร้างปัญญามากกว่าสร้างอารมณ์ รวมทั้งช่วยลดวิตกกังวลของสังคมในขณะนี้ด้วย ซึ่งหน่วยงานอื่นๆก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้รวดเร็วและชัดเจนยิ่งขึ้น

พร้อมยืนยันการบริหารงานของรัฐบาลและศบค. ที่ผ่านมาไม่ได้ล้มเหลว มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อและผู้หายป่วยกลับบ้านแล้วก็มาก ขณะนี้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยกำลังทำงานให้กับประชาชนทั้ง 70 ล้านคนใน 77 จังหวัด นายกรัฐมนตรีและศบค. เป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายที่เป็นผลจากการหารือของทุกฝ่าย นายกรัฐมนตรียังเผยว่าพร้อมลงไปพบปะให้กำลังใจคนทำงาน แต่ไม่ใช่ไปหาเสียง แต่เกรงว่าจะเป็นการรบกวนคนทำงาน จึงขอให้คนไทยหันหน้าร่วมมือกัน จะสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...