ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
“ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาชนเป็นสุข” อุดร ตันติสุนทร ผู้อุทิศกายและใจเพื่อการปกครองท้องถิ่น
16 มิ.ย. 2564

เมื่อกล่าวถึงใครสักคนซึ่งตลอดชีวิตทางการเมือง จนล่วงเลยวัยเกษียญ แต่ยังคงอุทิศตนด้วยความรักและศรัทธาต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมาโดยตลอด คงต้องมอบช่อดอกไม้ ช่อโตๆ ให้กับ นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ผู้ซึ่งริเริ่มเสนอกฎหมายสภาตำบลและยกระดับขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2526 โดยใช้เวลานานถึง 11 ปี กว่าที่กฎหมายนี้จะผ่านสภาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2537 และยังใช้เวลาตลอดชีวิตอุทิศตนเพื่อส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบต่างๆ

ผลงานเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ เขาเป็นผู้นำเสนอและผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่ ต.ท่าสายลวด อ.สอด จ.ตากเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมข้ามแม่น้ำเมยจากฝั่งไทยเชื่อมกับเมืองเมียงวดี ประเทศพม่า โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ด้วยงบประมาณก่อสร้าง จำนวน 79.2 ล้านบาท และเปิดใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

นายอุดร ตันติสุนทร เกิดวันที่ 4 กันยายน 2476 ที่จังหวัดตาก เป็นบุตรของนายซ้งกี่ กับนางแจง ตันติสุนทรเล่าเรียนจบเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2505 ก่อนจะตัดสินใจเข้าสู่ถนนการเมืองโดยลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร์จังหวัดตากและได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในปี 2542 ระหว่างเส้นทางการเมืองได้รับดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2547โดยได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

                สำหรับเหตุจูงใจให้นายอุดรเข้าสู่วงการเมืองนั้นเริ่มมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รู้จักการเสียสละเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อคนที่ด้อยโอกาสและเพื่อการปกครองบ้านเมืองอย่างยุติธรรม” แต่มาเป็นจริงเป็นจัง ในปี พ.ศ. 2511 เมื่อ พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร(น้องชายของจอมพลถนอม กิตตขจร)ได้มาชักชวนให้ลงสมัคร ส.ส.ในสังกัดพรรคสหประชาไทย กระทั้งได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.จังหวัดตากครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 หลังจากนั้นได้ย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย ได้เป็น ส.ส.จังหวัดตากสมัยที่ 2 ในปี 2519 ต่อมาได้ย้ายไปอยู่พรรคกิจสังคม ซึ่งมี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค คราวนี้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดตาก อีก 2 สมัย คือ (ปี 2526 และ 2531)สุดท้ายย้ายไปอยู่พรรคพลังธรรม ที่มีพล.ต.จำลอง ศรีเมืองเป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็น ส.ส.จังหวัดตากอีกครั้งในปี 2535 หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีก  2 สมัย

เส้นทางการเมืองของนายอุดรเติบโตเป็นลำดับ ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 สมัยของรัฐบาลพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยที่ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี(พ.ศ.2537)รวมทั้งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดตาก เมื่อปี พ.ศ. 2543 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารราชการแผ่นดิน ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา (ปี 2562-2563)

                นายอุดรเล่าว่าช่วงที่เป็น ส.ส.ใหม่ๆ วันหนึ่งได้ไปเยี่ยมเยือนราษฎรที่ตำบลโป่งแดง จ.ตาก มีชาวบ้านพากันมาร้องขอให้ช่วยขุดลอกหนองน้ำที่ตื่นเขินตามธรรมชาติ กักเก็บน้ำฝนไว้ไม่ได้ ควายไม่มีน้ำกิน ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนมาก ไม่รู้ว่าจะร้องขอความช่วยเหลือไปที่ใคร เมื่อนายอุดรเห็นสภาพปัญหาเร่งด่วนของชาวบ้าน ซึ่งรอคอยความช่วยเหลือจากส่วนราชการแต่หน่วยงานภาครัฐทำงานล่าช้าทุกปัญหาแม้แต่เรื่องเล็ก เรื่องน้อย ต้องไปรวมศูนย์อยู่ที่จังหวัด ส่วนภูมิภาค แฃะส่วนกลาง

เมื่อเห็นว่าปัญหาเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ชลบท นายอุดรจึงได้ทำเรื่องขอเงินจากรัฐบาลในสมัยนั้นเพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับ ส.ส. คนละ 3 แสนบาท นำไปแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับประชาชนในแต่ละจังหวัดซึ่งรัฐบาลก็ได้อนุมัติและเริ่มใช้งบ ส.ส.นี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 แต่ต่อมา ส.ส.ได้แปรญัติเพิ่มงบส่วนนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ มีการนำงบไปใช้จ่ายแฝงการหาเสียง ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้นายอุดรเกิดแนวคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีองค์กรท้องถิ่นที่สามารถจะแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้เอง จึงเป็นที่มาของการริเริ่มร่างแผนจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ให้เป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

“ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล เขาลำบากมาก อยากได้ถนนก็ต้องไปร้องกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ไปร้องกำนัน กำนันก็ไปร้องต่อที่อำเภอ นายอำเภอรับเรื่องก็รายงานไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯก็รายงานเสนออธิบดีกรมเร่งรัดพัฒนาชลบท หรือ รพช. ในสมัยนั้น เมื่ออธิบดีรับเรื่องแล้วก็เรียงลำดับเข้าแฟ้ม ซึ่งมีคนก็ร้องเรียนมาเต็มไปหมด เมื่อเห็นว่าที่ใดด่วนที่สุด อธิบดีก็จะมีคำสั่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด บอกว่าให้ รพช.ไปสำรวจดูว่าเดือดร้อนจริงหรือไม่ จากนั้นก็ให้เสนอกลับมาอีกที เพียงแค่หนังสือราชการก็เดินทางกลับไปกลับมา หลายปี ปัญหาได้รับการแก้ไขบ้างไม่ได้รับการแก้ไขบ้าง”

นายอุดร เล่าย้อนหลังอีกว่าเมื่อตนพบปัญหานี้จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าต้องมีหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล ขึ้นมารองรับและแก้ไขปัญหาให้กับคนในพื้นที่โดยตรง เผอิญว่าสมัยนั้นพรรคกิจสังคม ซึ่งมีมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นหัวหน้าพรรค มีนโยบายหลัก 4 อย่าง คือ1.เงินผัน 2. ประกันแรงงานและราคาพืชผล 3.ส่งเสริมสภาตำบล 4.คนจนรักษาฟรี นายอุดรจึงได้เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ มรว.คึกฤทธิ์ ถึงปัญหาที่แท้จริงของคนในชนบท พร้อมเสนอแนวคิดในเรื่องการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับดำบล

มรว.คึกฤทธ์ เห็นว่ามีแนวคิดตรงกันที่จะส่งเสริมสภาตำบลให้มีบทบาทมากขึ้นจึงได้มอบหมายงานในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคกิจสังคมจึงได้ไปจัดทำเรื่องกฎหมายสภาตำบล เพื่อยกระดับให้เป็นนิติบุคคล ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเล็กสุด ที่มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองต่อมาก็ได้นำเสนอร่างกฎหมาย อบต. ขึ้นมาเป็นฉบับแรกของประเทศ เมื่อปี 2526แต่มีปัญหาการยุบสภาบ้าง มีผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยบ้าง นายอุดรก็ไม่ย่อท้อ พยายามผลักดันร่างกฏหมายฉบับนี้เรื่อยมา กระทั้งได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(พ.ศ.2537) ร่างกฏหมาย อบต. ที่ต้องต่อสู้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 11 ปี ได้รับอนุมัติจากสภาฯ ออกมาบังคับใช้

นายอุดรเปิดเผยว่า กฎหมาย อบต.ในยุคแรกนั้นกฏหมายให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 2 คน และยังกำหนดให้แต่งตั้งกำนัน ขึ้นมาเป็นประธานองค์การบริหารส่วนตำบลโดยตำแหน่งไปก่อนใน 4 ปีแรก หลังจากนั้นค่อยให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเนื่องจากเห็นว่า กำนันมีความคุ้นเคยกับนายอำเภอ รู้จักวิธีการปกครองมาก่อน จากจุดนั้น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้รับแก้ไขมาจนปัจจุบัน ซึ่งองค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล(เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต) และ ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ(กทม. และ เมืองพัทยา)

                ด้วยวัย 88 ปี นายอุดรไม่มีคำว่าเหนื่อยและท้อ แม้จะพ้นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกระจายอำนาจเมื่อปีก่อน ทุกวันนี้ นายอุดรยังเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไม่เคยย่อท้อ ชิวิตในวัยเกษียญของนายอุดร แทนที่จะพักผ่อนอยู่กับครอบครัว นายอุดรต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ  เพื่อเยี่ยมเยือนชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้กำลังใจและให้คำแนะนำ การขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งการอุทิศเวลาเป็นวิทยากร เดินสายให้ความรู้ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นในเวทีวิชาการต่างๆ ในฐานะประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (มสท.)

                มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยนายอุดร ได้ร่วมกับ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร (สมัยที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ดร.สายทิพย์ สุคติพันธ์ และคณาจารย์อีกหลายท่าน เพื่อให้เป็นองค์กรที่จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยส่งเสริมความรู้ วิชาการ และวิสัยทัศน์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดสัมมนาวิชาการ ผลิตหนังสือวิชาการ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเติมเต็มให้กับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการท้องถิ่นที่สนใจ

“บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทย ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาชนจะเป็นสุข ไม่ใช่รัฐบาลเข้มแข็งแล้วประชาชนจะเป็นสุข เพราะท้องถิ่นเขารับผิดชอบทุกข์สุขของราษฎร ดังนั้นทุกอบต.ทุกเทศบาล ขอให้ทำหน้าที่ 8 อย่าง ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักของท้องถิ่นคือ 1.น้ำไหล 2.ไฟสว่าง 3.ทางดี 4.สิ่งแวดล้อมดี 5.ศึกษาดี 6.อนามัยดี 7.อาชีพดี 8 .วัฒนธรรมดี โดยมุ่งไปที่ประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่”

นายอุดรมองว่า ทุกวันนี้บทบาทของท้องถิ่นก้าวหน้าไปมาก ท้องถิ่นเติบโตและเข้มแข็งมากขึ้นโดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุน พร้อมมอบอำนาจและภารกิจให้ท้องถิ่นตามสมควร อีกทั้งท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้เองตามที่รัฐมอบหมาย และมีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะคอยดูแลช่วยเหลือ แก้ปัญหาด้านกฏระเบียบและจัดสรรอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและ ส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนมากขึ้นแม้จะมีอุปสรรค์อยู่บ้างจากปัญหาทางการเมือง

“ผมมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่าประชาธิปไตยของไทยยังเป็นความหวังของประเทศเราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลของเราก็มีทหารปกครองบ้าง พลเรือนปกครองบ้าง สลับกันไป แต่ก็ค่อยๆเติบโตมาตามลำดับการปกครองท้องถิ่นของเราก็เช่นกัน มีแต่จะโตไปข้างหน้า”

นายอุดรมั่นใจว่าอนาคตท้องถิ่นจะไม่ย่ำอยู่กับที่“ผมพยายามเสนอกฎหมายอบต.มานานถึง 11 ปี กว่าจะได้ใช้ล่วงเข้าปี 2537 ได้เลือกตั้งอบต.ปี 2538 สืบมาจนถึงวันนี้ขณะที่ท้องถิ่นของเราเปรียบไปแล้วก็เหมือนเด็ก 27 ขวบ มันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปพวกเราต้องช่วยกันอดทน ช่วยขยับเขยื้อนและผลักดันกันทีละเล็ก ทีละน้อย เพราะอำนาจรัฐส่วนกลางที่ไม่ต้องการกระจายอำนาจยังมีอยู่มาก”

นายอุดรย้ำว่าอนาคตท้องถิ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่ดี  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวัง เราก็ต้องคอยประคับประคองให้มันพัฒนาไปเรื่อยๆคนท้องถิ่นต้องแสวงหาความรู้ ทำงานอย่างซื่อสัตย์ อดทน อย่าไปท้อหรือมองแต่ด้านลบ

“ในฐานะที่ผมริเริ่มและต่อสู้เรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ผมยังต้องอดทน และผมจะไม่ละทิ้งมัน ผมจะทำอะไรต่อมิอะไรต่อไปเพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นเติบโตก้าวหน้าและเข็มแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำไปทุกวัน จนกว่าผมจะไม่มีเรี่ยวแรง ผมเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่พวกเราทำ จะทำให้มีการกระจายอำนาจมากกว่านี้เพราะประเทศที่เจริญแล้วเขากระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไปไกลมากแล้ว” นายอุดร ตันติสุนทร กล่าวในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...