ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) “คนไทยต้องเป็นทุนมนุษย์ในอาเซียน และเป็นพลเมืองคุณภาพของโลก”
03 พ.ค. 2564

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

“คนไทยต้องเป็นทุนมนุษย์ในอาเซียน และเป็นพลเมืองคุณภาพของโลก”

การเมืองในระบบรัฐสภาของไทยนั้น พลัดเปลี่ยนกันมาเรื่อยตามยุคตามสมัย บางยุคก็มีเพียงสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร บางสมัยก็มี 2 สภา คือมีวุฒิสภาเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา 250 คน โดยบทบาทและหน้าที่ส่วนใหญ่แล้วก็คือ การพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่จะออกมาบังคับใช้กับประชาชน

                อย่างไรก็ตาม หากจับจ้องไปที่วุฒิสภาหรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหาแล้ว ย่อมแน่นอนว่า บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้นั้น ต้องมีเกียรติประวัติพร้อมคุณสมบัติอยู่ในขั้นปรมาจารย์อย่างครบเครื่องในแต่ละสาขา ซึ่ง1 ใน 250 คน ที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกจะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักในฉบับก็คือ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ซึ่งแน่นอน คือผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในสายการศึกษาระดับอุดมศึกษา

อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ในวัยย่างเข้าสู่ 60 ปี (เกิด 21 พฤศจิกายน 2504) เริ่มเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า เป็นคนเมืองนครปฐม คุณพ่อเป็นอธิการชาวอิตาเลียน มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมด โดยตัวอาจารย์เป็นลูกคนที่ 5 ที่เป็นผู้ชายคนเดียว ธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่เป็นเอเย่นต์ขายเครื่องดื่มทุกอย่างในเมืองนครปฐม ส่วนที่เป็นข้าราชการนั้นก็มีอาจารย์กับพี่สาวอีกคนที่เป็นครูแต่เกษียณแล้ว นอกนั้นทำธุรกิจกันหมด “ผมเองสนใจเรียน เพราะได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อยอห์น จะให้กำลังใจลูกๆ ทุกคน สำหรับผมเองพ่อจะให้กำลังเวลาจะไปสอบเรียนต่อ ผมชอบสายอาชีพมาตั้งแต่เด็ก เรียนชั้นอนุบาล ประถม และ ม.ต้น ไม่ซ้ำโรงเรียน เริ่มที่อนุบาลก็โรงเรียนอนุบาลนครปฐม พอย้ายเข้า ป.1 ไปเรียนที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อม หลังจากนั้นไปสอบเข้า ม.1 ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จึงอยู่แต่ในนครปฐมกับครอบครัวมาตลอด”

            อาจารย์ ดร.ประเสริฐ เล่าให้ฟังต่อไปว่า พอจบ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ตั้งใจต่อสายอาชีพทันที และก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ก็เข้ามาเรียนที่โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อเสียงมากและเป็นสถาบันศึกษาคริสเตียน และก็เป็นจุดเปลี่ยนเกิดที่นี่ “ดีเอ็นเอผมส่อแววต้องไปทางสายอาชีพ ส่งผลให้ผมเองตั้งใจเรียน จึงได้ทุนไปเรียนต่อในระดับ ปวส. ตอนนั้นวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพดังมาก ก็ได้เรียนต่อที่นี่ เขาจะปั้นคนที่จบให้เป็นครูช่าง แต่มันหยุดแค่นี้ไม่ได้ ผมเองได้ทุนไปต่อระดับปริญญาตรีอีกที่ สมัยนั้นเรียกว่าวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะเทเวศร์ ซึ่งสอนแค่ระดับปริญญาตรี ผมเลือกเรียนในสาขาไฟฟ้า คณะครุอุตสาหกรรม (ไฟฟ้า) จำได้ว่ามีนักเรียนทุนอยู่ 17 คน”

ส่วนการได้เป็นอาจารย์ช่างครั้งแรกนั้น อาจารย์ ดร.ประเสริฐ บอกว่า ต้องเดินทางไปสอนไกลถึงสงขลา โดยไปเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะภาคใต้ หรือสมัยนั้นเรียกว่า เทคโนฯ สงขลา สอนที่นั่นอยู่ 2 ปี และก็มีเวลาไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้าควบคุม เรียนจบเพียง 2 ปี และก็รับราชการต่อที่นี่ ประมาณร่วมกว่า 10 ปี คือช่วง 2528-2539 อยู่จนมีครอบครัว ได้แต่งงานกับคนใต้ โดยภรรยาเป็นคนพัทลุง มีลูกๆ ก็ให้เรียนที่ใต

“ผมเองโชคดีมีลูกชายหมดทั้ง 3 คน เรียนระดับปริญญาเอกทั้งสิ้น โดยที่ไม่ต้องรบกวนครอบครัวเลย และโชคดีอีกอย่างคือ คุณแม่เขาดูแลได้ดีมาก ที่สำคัญไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจหรือผิดหวัง คนโตได้ทุนเรียนระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษด้านบิ๊กดาต้า คนที่สองเป็นหมอก็ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่อิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ในสาขาด้านวัคซีน และคนที่สาม เรียนด้านวิศวะเครื่องกล พระนครเหนือ ก็ได้ทุนเรียนระดับปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยทุน KITอาจารย์ ดร.ประเสริฐ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกด้วยว่า

ความฝันของอาจารย์นั้นมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ อยากเป็นข้าราชการซี 7 อย่างที่สอง อยากเป็น ผอ. (ผู้อำนวยการ) และอย่างที่สาม อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งถ้าพูดถึง “ซุนวู” จะเน้นเรื่องทำเลที่ตั้งที่จะชนะได้ และก็เป็นจริง คือช่วงนั้นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี ดร.ธรรมนูญ ฤทธิ์มณี ต้องการที่จะขยายวิทยาเขตที่ศาลายา ซึ่งอยู่หลังมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก็ทาบทามอาจารย์ให้มาเป็นรอง ผอ. ซึ่งอาจารย์บอกว่า ก็รับทันที เพราะฝันเอาไว้ว่าจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดที่นครปฐม และก็ได้ตรวจมาหมดแล้วว่า ในนครปฐมโรงเรียนด้านช่างที่สอนในระดับปริญญาตรีไม่มีเลย จึงอยากผลักดันที่ศาลายาเป็นที่แรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็น ผอ.ได้ริเริ่มบุกเบิกในเรื่องสาขาวิชาที่ขาดตลาดและมีความต้องการในอนาคต โดยเน้นไปที่ 3 สาขา คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมอิเลคทรอนิคส์ และบัญชี ในระดับปริญญาตรี เริ่มแรกมีครู 7 คน นักศึกษา 24 คน มาปัจจุบันนักศึกษากว่า 1,400 คน อาจารย์มากกว่า 50 คน และก็มีฝันที่ไกลไปกว่านั้นอีกคือ

“ผมเองอยากรับใช้เบื้องยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้มีโอกาสไปเป็นผู้อำนวยการวิทยาเขตไกลกังวลอีก 2 ปี ที่นี่ก็ได้ทำผลงานที่ภาคภูมิใจอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก ทำการเรียนการสอนทางไกลกับคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย และได้รับช่องสถานี 1 ช่อง จากมูลนิธิฯ ให้ราชมงคลได้เรียนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นความภูมิใจที่สุด” อาจารย์ ดร.ประเสริฐ กล่าวอย่างภูมิใจ

                อาจารย์ ดร.ประเสริฐ เล่าอีกว่า หลังจากนั้น ก็ถูกทาบทามให้มานั่งเป็น ผอ.สายเกษตร ที่วิทยาเขตปทุมธานี (คลองหก) หลังจากนั้นได้รับเลื่อนขึ้นเป็นคณบดีคณะครุศาสตร์อยู่ 2 ปี มีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ก็ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นอยู่ 2 สมัย 8 ปี โดยสมัยเป็นอธิการบดี ได้ตั้งนโยบายในการผลิตบุคคลากรในสาขาวิชาชีพที่ตลาดต้องการ เป้าหมายสร้างทุนมนุษย์ตีตลาดโลก “จะเห็นว่าที่สถาบันฯ แห่งนี้มีความเป็นวิชาชีพที่เด่นชัด และออกไปใช้ได้จริง ทุกครั้งที่มีการประเมินด้านคุณภาพในสาขาต่างๆ ในหลายๆ สำนักทั้งไทยและต่างประเทศ ของเราจะได้รับการโหวตในอันดับต้นๆ แทบทุกครั้งทั้งในระดับประเทศและอินเตอร์”

            สำหรับการเข้าสู่การเป็นวุฒิสภานั้น อาจารย์ ดร.ประเสริฐ บอกว่า แม้อาจารย์จะเติบโตมาทางสายอาชีพทั้งชีวิต ซึ่งคิดว่าจบที่อธิการบดีก็มาไกลแล้ว แต่เป้าหมายที่จะสร้างคนให้เป็นทุนมนุษย์มีคุณภาพนั้นยังต้องทำต่อไป และเป็นอีกฝันหนึ่งที่อยากเห็น ซึ่งหลังจากมีการชักชวนให้สมัครวุฒิสมาชิกโดยการสรรหา ฝันก็เป็นจริงอีกครั้ง เมื่อได้รับการพิจารณาให้เป็นวุฒิสมาชิก มีกำหนดวาระ 5 ปี จึงเป็นโอกาสอีกครั้งที่จะได้ต่อยอดในเรื่องการศึกษา “ผมได้นั่งใน 2 กรรมาธิการของวุฒิสภา คือ กรรมาธิการอุดมศึกษา โดยเป็นประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนอุดมศึกษา และเป็นกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเป็นประธานอนุกรรมาธิการปรับปรุง พัฒนาระบบและบูรณาการฐานข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐ”

โดยอาจารย์ บอกว่า นั่งตรงนี้ได้ทำงานอีกแบบ โดยใช้ด้านนิติบัญญัติมาเชื่อมต่อกับระบบการศึกษาไทย ที่จะต้องตอบโจทย์ในหลายเรื่อง ไม่ว่าการผลิตกำลังคนด้านอาชีวะที่ตลาดต้องการ และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงด้านเกษตรและอาหารที่ยังอ่อนอยู่ และที่สำคัญมากคือ การใช้เทคโนโลยีของระบบราชการที่ยังเดินช้าอยู่ระหว่างกรม กระทรวง แต่ที่สำคัญกว่านั้น รัฐบาลดิจิทัลมุ่งแต่ภาครัฐไม่ได้ต้องให้เอกชนมาร่วมพัฒนาด้วย

                อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ยังเล่าให้ฟังถึงความฝันต่อไปอีกว่า อยากทำอีกอย่างในชีวิตคือ 20 ปีข้างหน้า ทุนมนุษย์ไทยแลนด์ มีมูลค่า มีคุณภาพและศักยภาพทั่วโลกต้องการ โดยวางไว้ตั้งแต่ปี 2564 นับไปเลยอีก 20 ปี จุดสำคัญอยู่ที่ตรงไหน ที่ผ่านมาเรามองแค่ปลายทาง คือจบปริญญาตรีหรืออุดมศึกษา ต่อไปต้องเริ่มกันที่ปฐมวัย 3 ปี เรียนอีก 15 ปี และทำงานอีก 2 ปี รวม 20 ปี ทุกช่วงวัยจะมีการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ให้แน่น มีคุณภาพ ปฏิรูปครู เน้นการเรียนการสอน สายอาชีพต้องมุ่งอาชีพที่ตลาดต้องการและเน้นเทคโนโลยีมาใช้

“ภาคเกษตรต้องไม่ลืม เราผลิตอาหารให้คนทั้งโลกในอันดับ 4-5 ของโลก ต้องเน้นการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่าทำแต่ต้นทาง คือขายวัตถุดิบเท่านั้น ต้องการให้คนไทยเป็นทุนมนุษย์ในอาเซียน และเป็นพลเมืองคุณภาพของโลกด้วย เด็กไทยเก่ง กล้าและดี ต้องครบ แต่สำคัญกว่านั้น ต้องเป็นทุนมนุษย์ที่รับผิดชอบต่อสังคม จุดอ่อนที่เห็นอยู่ในเวลานี้ คือการพัฒนากำลังคนไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงไม่สามารถรองรับตลาดเหล่านี้ได้ อีกอย่างการขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมน้อยไป” อาจารย์ ดร.ประเสริฐ กล่าวในที่สุด

...............................................   

    

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ เกิด 21 พฤศจิกายน 2504 การศึกษา : ประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขา ไฟฟ้ากำลังโรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก กรุงเทพมหานคร ปี 2522, ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาไฟฟ้ากำลัง nวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ปี 2525, ปริญญาตรี ค.อ.บ. สาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทเวศร์ กทม.ปี 2528, ปริญญาโท วศ.ม. สาขา วิศวกรรมไฟฟ้าและควบคุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2538 และปริญญาเอก DPA (Doctor of Public Administration) University of Northern Philippines ปี 2551

เป็นอาจารย์ประจำภาคไฟฟ้า สาขาไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคใต้ สงขลา ปี 2528-2538, จากนั้นย้ายสอนวิทยาเขตศาลายา, วิทยาเขตวังไกลกังวล

นั่งผู้ช่วยอธิการบดี 2551-2553 คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม 2554 รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มทร.ธัญบุรี ปี 2552 รองอธิการบดี ปี 2555

สมัครเข้ารับการสรรหาและได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้อธิการบดี มทร.ธัญบุรี สมัยแรกปี 2556 และเมื่อครบวาระ 4 ปี 14 สิงหาคม ปี 2560 สภา มทร.ธัญบุรี มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกสมัย

ปัจจุบัน สมาชิกวุฒิสภา

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...