ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
จีนกับเมียนมา 2
04 มี.ค. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนกับเมียนมา 2

ทันทีที่กองทัพเมียนมาภายใต้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลวอชิงตัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลกด้านประชาธิปไตย 

โดยขั้นแรกเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางอองซานนักการเมือง ผู้นำการประท้วงและพลเรือนที่ถูกควบคุมตัว และให้ยกเลิกประกาศฉาวะฉุกเฉิน สละอำนาจที่ยึดมาจากประชาชน

อเมริกาหวังให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่สหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวร(ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย) ประณามกองทัพเมียนมา และเข้าแทรกแซงทางการเมืองแบบชอบธรรม แต่ถูกจีนและรัสเซียใช้สิทธิวีโต้ว่า จะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

เมื่อกองทัพเมียนมาเมินเฉยต่อคำขู่ โจ ไบเดน ก็เล่นบทคาวบอยพิทักษ์โลก โดยลงนามประกาศคว่ำบาตรผู้นำในกองทัพเมียนมาประมาณ 10 นาย รวมถึงสมาชิกและครอบครัวขึ้นบัญชีดำบริษัทค้าอัญมณีและหยก 3 แห่ง ที่กองทัพเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังห้ามกองทัพเข้าถึงกองทุนที่รัฐบาลเมียนมาถืออยู่มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลวอชิงตันยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกสหประชาชาติร่วมคว่ำบาตรเมียนมาเหมือนกับสหรัฐฯ เพื่อกดดันเมียนมาให้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

ไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาที่ออกหน้า สหประชาชาติ (UN) ได้ขอความร่วมมือประชาคมโลกร่วมกดดันกองทัพเมียนมาที่ทำน่าเกลียด ล้มกระดานการเลือกตั้ง แต่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” กลับแสดงท่าทีปกป้องกองทัพเมียนมา  โดยใช้คำว่า “การปรับโครงสร้างอำนาจที่ผิดปกติ” แทนคำว่ารัฐประหาร และ “การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่” แทนคำว่าล้มรัฐบาลเดิม

เป็นที่รู้กันดีว่า จีนช่วยปกป้องรัฐบาลเผด็จการเมียนมาไม่ให้ถูกตรวจสอบจากนานาชาติมายาวนาน เช่นเรื่องการปราบปรามชาวโรฮีนจา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า 

ช่วงที่โลกรุมด่าอองซาน ซูจี ยึดสารพัดรางวัลกลับ เพราะนิ่งเฉยต่อกรณีกองทัพเมียนมากวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจานับแสนออกจากรัฐยะไข่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาปกป้องว่า “จีนสนับสนุนเมียนมาในการผลักดันให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในรัฐยะไข่”

เหตุผลสำคัญที่จีนต้องดูแลเมียนมา เพราะในทางยุทธศาสตร์เมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันกว่า 2,000 กิโลเมตร จึงไม่อาจปล่อยให้ชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลเหนือเมียนมา ซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคง  อีกด้านหนึ่งเมียนมาคือเส้นทางยุทธศาสตร์ที่พาจีนออกสู่มหาสมุทรอินเดียและต่อขยายไปยังตลาดอาเซียน

ในทางเศรษฐกิจเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของจีน มูลค่าการค้าจีน-เมียนมา ในปี2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท  

รัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญต่อเมียนมาถึงขนาดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปจับมือกับนางอองซาน เมื่อต้นปี 2563 เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (BRI) โดยจีนทุ่มงบประมาณถึง 8,900 ล้านเหรียญ หรือกว่า 2.6 แสนล้านบาท ในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าเมียนมาไปตลอดกาล

เมกะโปรเจกต์ที่ว่า ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู รัฐยะไข่มูลค่าลงทุน1,300 ล้านเหรีญสหรัฐ นิคมอุตสาหกรรม ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากยูนนานทางใต้ของจีน เมืองมูเซะ รัฐฉาน ผ่านมัณฑะเลย์ถึงชายฝั่งทะเลตะวันตกของเมียนมาที่เจาะพยู และโครงการปรับปรุงขยายปริมณฑลเมืองย่างกุ้ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาโดยเฉพาะรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เป็นแกนนำก็มีความกังวลเรื่องกับดักหนี้เงินกู้จีน จึงพยายามเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะจากซีกตะวันตก  ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เล่นสายกลางไม่อิงจีนกับชาติตะวันตกมากเกินไปโดยแสดงท่าทีผ่านกลุ่มอาเซียน

ว่ากันว่า 8 ปีของประธานาธิบดีบารัค โอบามา รัฐบาลวอชิงตันพยายามสร้างอิทธิพลต่อเมียนมา แต่พอโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามานั่ง เอาแต่เรื่องเศรษฐกิจ ลดความสำคัญของอาเซียน เปิดช่องให้จีนเข้าไปมีบทบาทในเมียนมา  อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาจึงลดลง

การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสให้อเมริกากลับสู่เมียนมาและอาเซียนอย่างไม่ลังเล เช่นเดียวกับจีนที่ไม่อาจปล่อยให้อเมริการุกเข้ามายังดินแดนพุกาม ซึ่งตนเองถือว่าเสมือน “พี่น้องท้องเดียวกัน” 

แต่เมียนมาวันนี้ไม่เหมือนอดีต คนเมียนมาได้ลิ้มรสประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 5 ปีภายใต้รัฐบาลพรรค NLD เสียงกว่า 80% สะท้อนการสนับสนุนอองซาน และกับโลกการสื่อสารยุคใหม่ที่กองทัพเมียนมาไม่อาจปิดกั้นกลับสู่ยุคมืดในอดีต

มีการกระจายข่าวลือว่า รัฐบาลปักกิ่งหนุนการรัฐประหาร ลือว่ามีเที่ยวบิน 5 เที่ยวจากคุนหมิงถึงย่างกุ้ง พร้อมเจ้าหน้าที่เทคนิกด้านไอทีพร้อมอุปกรณ์ทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือยิ่งขึ้นไปอีกเรื่องการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต จึงมีการชุมนุมหน้าสถานทูตจีนในนครย่างกุ้ง พากันถือแผ่นป้ายเรียกร้องจีนไม่ให้สนับสนุนกองทัพเมียนมา

ภาพที่กลุ่มผู้ประท้วงชูป้ายผ้าที่มีรูปสี จิ้นผิง พร้อมคำบรรยาย WE ARE WATCHING YOU! MR.XI JINPING  เป็นการบอกกล่าวว่า ชาวเมียนมากำลังจับตาจีน

คำขู่ของผู้ประท้วงที่จะต่อต้านสินค้าและโครงการลงทุนของจีนคือสิ่งที่จะตามมาในอนาคต

รัฐบาลจีนสามารถควบคุมความคิดเห็นของชาวจีน 1,400 ล้านคนได้ด้วยปัจจัยมากมาย แต่กับชาวเมียนมา 54 ล้านคน ที่เพิ่งถูกกองทัพปล้นประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องอันตราย

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...