ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม+สปสช.จัดบริการสุขภาพวิถีใหม่
23 ก.พ. 2564

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยงานบริการสังกัดกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นที่โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 9 แห่ง เปิดให้บริการสุขภาพแบบ New Normal ทั้งบริการเจาะเลือดถึงบ้าน บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine และบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ เพื่อเป็นการลดความแออัดและลดความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อาจสัมผัสเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาล โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางปิยนุช โปร่งฟ้า ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการ นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสปสช.เขต 13 กทม. นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสปสช.เขต 13 กทม. ผู้บริหารสำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 อาคารสำนักการแพทย์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอก 3.9 - 4 ล้านครั้ง/ปี ผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้ง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมารับบริการ ลดการมารอพบแพทย์จนเกิดความแออัดที่โรงพยาบาล กรุงเทพมหานคร จึงได้พัฒนารูปแบบบริการในเชิงรุก โดยให้บริการผู้ป่วยถึงบ้านและในชุมชน อีกทั้งเป็นบริการสุขภาพแบบ New Normal อาทิ โครงการบริการรักษาทางไกลผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) โครงการบริการเจาะเลือดถึงบ้าน (Mobile Lab) และโครงการรับยาผ่านร้านยาคุณภาพหรือทางไปรษณีย์ จะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งมีความอ่อนไหวทางสุขภาพอยู่แล้ว อาจสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ได้ ทั้งในระหว่างเดินทางหรืออยู่ในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังได้รับคุณภาพมาตรฐานในการรักษาเทียบเท่าการมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเช่นกัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า โครงการบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สนับสนุนให้หน่วยบริการที่มีความพร้อมปรับรูปแบบบริการ ลดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19  ที่มีการเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะ New normal และสนับสนุนนโยบาย Social distancing โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาจจะไม่สะดวกในการเดินทาง และเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัส เพิ่มระยะห่างในสถานพยาบาล ทำให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด 
“ทั้ง 3 โครงการนี้เป็นบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเลย มีความสะดวก ไม่เสียเวลารอคอย ลดความแออัดในโรงพยาบาล และความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโควิด-19 โดยเบื้องต้นจะเน้นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิกในกลุ่มโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวในตอนท้าย


สำหรับภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อการจัดบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New normal) หน่วยบริการสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรในสังกัดสำนักการแพทย์ ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ้คแฟนเพจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โครงการบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญในการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อส่งมอบบริการสุขภาพที่ดี ได้มาตรฐานและเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ในการพัฒนาเป็นมหานครปลอดภัย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...