ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สทนช.เร่งรัดโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน เก็บน้ำหน้าแล้ง หน่วงน้ำช่วงหลาก เพิ่มความมั่นคงน้ำเมืองขอนแก่น
16 ก.พ. 2564

สทนช. เร่งรัดมาตรการรับมือภัยแล้งปี 64 พื้นที่ จ.ขอนแก่น พร้อมติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนเมืองขอนแก่น เพิ่มแหล่งเก็บน้ำลำน้ำชี คาดหลังโครงการแล้วเสร็จเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นจาก 7.4 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35 ล้าน ลบ.ม. รองรับพื้นที่ชลประทานเพิ่ม 3.5 หมื่นไร่ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้ประชาชนได้กว่า 3 หมื่นราย

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน (ระยะที่1) ณ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ว่า โครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อนเป็นโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชีจากทั้งหมด 34 โครงการ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริตั้งแต่ปี 2539 มีพื้นที่หนอง 6,196 ไร่    แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเนื่องจากไม่มีอาคารบังคับน้ำ ส่งผลให้ประชาชน 33,877 คน พื้นที่เกษตรโดยรอบกว่า 35,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแก่งน้ำต้อน ตั้งแต่ปี 2543 และในปี 2561-2562 ได้รับงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นการสำรวจขอบเขตโครงการ รวมถึงการออกแบบโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนระยะที่ 1 โดยความก้าวหน้าปัจจุบันขณะนี้จึงยังอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารและรายละเอียด เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2564 นี้ แผนก่อสร้าง 4 ปี คือ ระหว่างปี 2564-2567 โดยใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 750 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแก้มลิงน้ำต้อนพร้อมอาคารประกอบ (ระยะ 1) งานประตูระบายน้ำบ้านกุดกว้าง งานประตูระบายน้ำบ้านป่าสังข์และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำแก่งน้ำต้อน
  
ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดประโยชน์โดยเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำจากเดิม 7.431 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานใน 7 ตำบล 3 อำเภอ ประมาณ 35,000 ไร่ เป็นแหล่งรองรับน้ำและเก็บกักน้ำที่สำคัญของลำน้ำชี เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ทั้งยังเก็บกักน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น หากได้รับการพัฒนาจะบรรจุน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับท้องถิ่นในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต รวมทั้งโครงการดังกล่าวจะช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในช่วงที่มีฝนตกหนัก ขณะเดียวกันยังช่วยสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาในฤดูฝนปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชีจะมีปริมาณน้ำมาก จนส่งผลกระทบกับประชาชนตามแนวลำน้ำชี ก่อนที่จะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำมูลที่อำเภอวารินชำราบ และไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในฤดูแล้งก็จะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภค

ด้าน นายสมบัติ มีลักษณะสม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น กล่าวถึง แนวทางบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อรับมือช่วงฤดูแล้งปี 2564 นี้ว่า ขณะนี้จังหวัดขอนแก่นมีแหล่งน้ำต้นทุนในเขตชลประทานประมาณ 900 ล้าน ลบ.ม. และนอกเขตพื้นที่นอกเขตชลประทาน 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตรตามแผนการจัดสรรน้ำ โดยสถานการณ์เก็บกักน้ำในเขตชลประทานขนาดใหญ่ 1 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การได้ 727 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39.34% อ่างฯขนาดกลาง จำนวน 14 แห่ง น้ำใช้การได้ 62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% และอ่างฯขนาดเล็กน้ำใช้การได้ 426 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67.12%  ขณะที่ปริมาณน้ำนอกเขตชลประทาน แบ่งเป็น แหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 767 แห่ง แหล่งน้ำและสระน้ำในไร่นาของกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 28,487 แห่ง แหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 307 แห่ง และแหล่งน้ำบ่อบาดาลอีก จำนวน 3,586 บ่อ  
 
สำหรับพื้นที่การเกษตรใน จ.ขอนแก่น มีทั้งสิ้น 8.52 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตประทาน 4.8 แสนไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 3.72 ล้านไร่ มีแผนเพาะปลูกในเขตชลประทาน 150,568 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 97,942 ไร่ คิดเป็น 65% ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานมีแผนเพาะปลูก 60,716 ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 27,502 ไร่ คิดเป็น 45.25% ขณะนี้ยังไม่พบพื้นที่เสียหาย ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการแล้ว 80 แห่ง ความจุ 37 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 50,775 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5แห่ง ความจุ 0.48 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 2,529 ไร่ และมีแผนจัดทำเพิ่มเติมในปี 2565 จำนวน 15 แห่ง ความจุ 5.05 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 16,600 ไร่
 
“ปัจจุบัน จ.ขอนแก่นยังไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด แต่เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ ทางกรมชลประทานได้ร่วมบูรณการในการรับมือสถานการณ์ไว้แล้ว โดยทำการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งน้อย 1.2 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปานกลาง 3.64 ล้านไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งมาก 1.89 ล้านไร่ ส่วนมาตรการเตรียมรับมือได้ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 1 คัน และมีแผนจ้างแรงงานเกษตรจำวน 524 คน” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น กล่าว 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...