ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
วัคซีนต้านโควิด
28 ม.ค. 2564

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 วัคซีนต้านโควิด

โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลต่อการป่วยถึงขั้นเสียชีวิตนับล้านคน ทำให้รัฐบาลทั่วโลกแสวงหา “วัคซีน” เพื่อใช้หยุดยั้งการแพร่ระบาด ชาติไหนมีศักยภาพก็เร่งค้นคว้าวิจัยผลิตขึ้นมาใช้เอง ชาติไหนไม่มีปัญญาก็สั่งซื้อเข้าไปใช้

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เริ่มอนุญาตให้มีการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จากผู้ผลิตบางรายในกรณีฉุกเฉิน มาจนถึงการเริ่มฉีดให้ประชาชนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่สิ่งที่ตามมาคือ การเกิดผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวืต

ข่าวดังทั่วโลกคือ ที่ประเทศนอร์เวย์มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ให้กลุ่มเสี่ยงรวมผู้สูงอายุ แล้วมีการเสียชีวิตมากถึง 33 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดผลข้างเคียงหรืออาจไปกระตุ้นโรคประจำตัวให้มีอาการรุนแรงขึ้น

เบื้องต้นมีการเตือนว่า วัคซีนอาจเสี่ยงต่อผู้สูงอายุและป่วยอยู่แล้วหรือผู้มีร่ายกายอ่อนแอ 

แต่คนแข็งแรงและไม่ป่วยก็อาจเกิดผลข้างเคียงเช่นกัน ดังกรณีที่โปรตุเกส เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงวัย 41 ปี เสียชีวิตกระทันหัน หลังฉีดวัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์ฯ 48 ชั่วโมง

หรือกรณีสูตินรีแพทย์อเมริกันวัย 56 ปีในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตภายใน 16 วัน หลังรับวัคซีนของไฟเซอร์ฯ ทั้งๆ ที่เป็นคนแข็งแรง ไม่ป่วย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และออกกำลังกายเป็นประจำ

ที่น่าสังเกตุคือ ไม่ปรากฏข่าวผลข้างเคียงจากวัคซีนจีนและวัคซีนรัสเซีย ทั้งๆ ที่รัฐบาลสองประเทศนำออกใช้ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และตอนนี้ระดมฉีดให้ประชาชนในประเทศ เรื่องนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า น่าจะมีการปกปิดข้อมูลที่ไม่เป็นผลบวก หรืออาจเพราะมีประสิทธิภาพต่ำ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยออกมายืนยันว่า วัคซีนของจีนเปิดให้ใช้ได้ทั่วโลก และบริษัทของจีนก็ได้ทำข้อตกลงในการส่งวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรต เพราะมีประสิทธิภาพสูง และผ่านทดสอบในเฟสที่ 3 แล้ว

ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้แจกจ่ายวัคซีน 100 ล้านโดสไปทั่วประเทศสำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ ศุลกากร ผู้ทำงานด้านขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยกำหนดเป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านโดส ภายใน 15 มกราคม เข็มที่สองภายใน 5 กุมภาพันธ์

                เท่ากับว่า จะมีประชากรจีน 50 ล้านคน ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนที่จะมีการเดินทางกันอย่างคับคั่ง ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน ถือว่ายังน้อย แต่ก็เป็นจำนวนที่มากพอสำหรับการวัดประสิทธิผลวัคซีนของจีนแก่สายตาชาวโลก

ส่วนทางรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้แสดงการเป็นผู้นำในการฉีดวัคซีน “สปุตนิค 5” ที่รัสเซียพัฒนาขึ้นมาเอง ก่อนจะเริ่มฉีดให้ประชาชนในกรุงมอสโกตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังให้ประชาชนทั่วประเทศลงชื่อเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนในวงกว้าง

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด -19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์เฟสที่ 3 พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์ฯ มีประสิทธิผล 95% วัคซีนของโมเดอร์นา มีประสิทธิผล 94.5% วัคซีนของแอสตราเซเนกา มีประสิทธิผล 62-90% วัคซีนสปุตนิค 5 ของรัสเซีย มีประสิทธิผล 92%  วัคซีนของซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% และวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78%

แพทย์อเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า ความคิดที่ว่าวัคซีนของจีนและรัสเซียมีคุณภาพไม่ดีเท่าประเทศอื่น หรือจะใช้ไม่ได้ผลเทียบเท่าวัคซีนที่ผลิตจากฝั่งยุโรปและอเมริกานั้น ถือเป็นความคิดที่ “ปนกระแสชาตินิยม”

หรือผู้วิจารณ์อาจจะฝังหัวว่า เทคโนโลยีด้านการแพทย์ของจีนและรัสเซียนั้นล้าหลังกว่าฝั่งยุโรปและอเมริกา ทั้งที่ความจริงมีการค้นคว้าวิจัยก้าวหน้าทัดเทียมหรืออาจจะล้ำหน้าไปแล้วในบางเรื่อง ดังเช่นเทคโนโลยีด้านการสื่อสารหรืออวกาศ

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาเคยกล่าวว่า “กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ และไม่ได้เป็นที่ทดลองฉีดวัคซีน”  แต่วันนี้หลังจากได้รับมอบวัคซีน 1 ล้านโดสของบริษัท ซิโนฟาร์ม จากรัฐบาลจีน ฮุน เซนได้ประกาศอาสารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นคนแรกเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า วัคซีนดังกล่าว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

เช่นเดียวกับ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่กล่าวถึงความปลอดภัยของวัคซีนจีนที่พัฒนาโดยซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งกำลังถูกใช้งานในอินโดนีเซีย ตุรกี อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล ว่า มีความปลอดภัยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจนถึงตอนนี้

รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งซื้อวัคซีนโคโรนาแวคจำนวน 25 ล้านโดส โดยอยู่ระหว่างขออนุญาตใช้งานในกรณีฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของฟิลิปปินส์   

สำหรับประเทศไทยที่อยู่ในสถานการณ์ระบาดรอบสองในวงกว้าง จากเดิมที่ไม่ได้เร่งจะใช้วัคซีนเพราะมั่นใจว่าเอาอยู่ แต่พอเกิด “บ่อนแตก” และ “แรงงานต่างด้าวกระจาย” กลายเป็นไฟลามทุ่ง หากจะรอวัคซีนที่สั่งจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ในวงเงิน 6,000 ล้านบาท กว่าจะมาถึงกลางปี 2564 อาจไม่ทันการณ์ จึงเกิดการเร่งรัดนำเข้าวัคซีนจีน “โคโรนาแวค” จากบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ในวงเงิน 1,228 ล้านบาท

ตามแผนคาดว่า จะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดส ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ 800,000 โดส ในช่วงปลายมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส ในช่วงปลายเมษายน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเราประกาศว่า จะไม่ให้คนไทยรับความเสี่ยง ไม่ยอมให้รีบร้อนฉีดวัคซีนที่ยังทดสอบไม่ครบถ้วน และไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ ผมจึงมีนโยบายสำคัญ คือ ต้องมั่นใจก่อนว่า วัคซีนนั้นปลอดภัย จึงจะนำมาใช้กับคนไทยได้

รอดูปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า เมื่อส่งมอบวัคซีนจีนล็อตแรกแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะอาสาเป็นผู้กล้ารับวัคซีนคนแรกหรือไม่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...