ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ปลอมลายเซ็น มรภ.สารคาม ใกล้ได้ข้อยุติ
23 ม.ค. 2564

เจอแล้ว! อาจารย์คนที่ 2 ขอ รศ.กับ มรภ.สารคาม กรณีปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ เจ้าตัวยันทราบเรื่องจากข่าว-ไม่กังวลผลกระทบ ขอรอฟังผลสอบจากคณะทำงานมหาวิทยาลัยก่อน เผยยื่นขอตำแหน่งตั้งแต่ปี 54 เพิ่งได้ปี 55 ระหว่างนั้นไม่รู้รายละเอียด

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รายงานประเด็นการตรวจสอบกรณีการปลอมลายมือชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนั้น ขณะที่ รศ.ดร.นิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กระบวนการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยใกล้ได้ข้อยุติแล้ว โดยขั้นตอนจากนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะทำงานของ อว.ตรวจสอบต่อไป

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะอนุกรรมการของสภามหาวิทยาลัย ได้ตรวจพบการปลอมลายมือชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รวม 13 คน

หนึ่งในนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองหนึ่ง ยืนยันว่า ไม่ทราบเรื่องที่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อผู้ทรงคุณวุฒิฯ ส่วนการขอตำแหน่ง รศ.ของตนเอง ได้ยื่นเรื่องไปตั้งแต่ปี 2559 และได้รับการพิจารณาเมื่อปี 2561 ซึ่งใช้เวลานาน 2 ปี เป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า สามารถติดต่ออาจารย์รายหนึ่ง ขอใช้ชื่อย่อว่า ช. ซึ่งปรากฎชื่อเป็น 1 ใน 13 คน ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหานี้ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยกรณี อาจารย์ ช. นั้น คณะอนุฯตรวจสอบของสภามหาวิทยาลัย ระบุว่า พบเอกสารการขอตำแหน่ง รศ. มีคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ของมหาวิทยาลัย 2 ฉบับ

นอกจากนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิฯ 1 รายให้ข้อมูลยืนยันว่า ไม่เคยเป็นประธานตามคำสั่ง ก.พ.ว.ดังกล่าว ส่วนอีกคน ให้ข้อมูลว่าคำสั่ง ก.พ.ว.สะกดชื่อของตนเองผิด พร้อมระบุว่า หากตนเองเคยเป็นผู้ประเมินก็จะประเมินให้ตก หรือถ้าเคยถูกทาบทามให้ประเมิน ก็จะปฏิเสธการประเมินดังกล่าว

ส่วนความผิดปกติในคำสั่ง ก.พ.ว.อีกฉบับ พบว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิฯ 3 ราย อยู่คนละสาขาวิชากับผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ขณะที่ อาจารย์ ช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ทราบเรื่องนี้จากข่าวแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่มีใครรู้เรื่องว่าเป็นเพราะอะไร

"สำหรับผู้ยื่นขอตำแหน่งวิชาการ เมื่อยื่นเรื่องไปแล้วถือว่าดำเนินการในส่วนของตัวเองเสร็จสิ้นที่เหลือก็รอฟังผลเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจะไม่มีทางรู้ว่าคำสั่ง ก.พ.ว.มีรายละเอียดอะไรบ้างดังนั้นขั้นตอนหลังจากที่ยื่นเรื่องขอตำแหน่งไปแล้ว เราไม่มีทางรับรู้ได้แต่อย่างใด" 

อาจารย์ ช. กล่าวอีกว่า ได้ยื่นขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) ไปเมื่อปี 2554 และถ้าจำไม่ผิดน่าจะได้รับการพิจารณาในปี 2555 อาจารย์ ช. ยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีความกังวลว่าเรื่องนี้จะมีกระทบกับตนเองแต่อย่างใด และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตรวจสอบก่อน

รายงานข่าวดังกล่าวนี้ ยังระบุว่า สำหรับบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ นอกจาก ส.ส. พรรคการเมืองแห่งหนึ่ง และอาจารย์ ช. รายนี้แล้ว ยังมีบุคคลที่ขอตำแหน่งทางวิชาการอีก 11  ราย ที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นอาจารย์อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา จะติดตามความคืบหน้ามานำเสนอต่อไป

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และสามารถติดต่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศราได้ตลอดเวลา

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...