ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตัวอย่างทุจริตท้องถิ่น
21 ม.ค. 2564

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

ตัวอย่างทุจริตท้องถิ่น

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ปีใหม่ที่ผ่านมา พวกเราคงไม่ได้สนุกสนานรื่นเริงกันมากมายเหมือนปีก่อนๆ โดยเหตุเจ้าโควิด-19 นั่นละครับ ระลอกสองนี้ ดูท่าว่าจะหนักกว่าระลอกแรก ที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่ยังไม่อาจตรวจสอบได้อีกเท่าไร ก็ต้องให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากกว่าระลอกแรก รัฐบาลเองก็ต้องออกแถลงการณ์โดย ศบค.กันอีก ต้องพูดความจริงกันครับ อย่าอ้ำอึ้ง ดูเหมือนจะบอกกล่าวกันไม่หมด ทำให้ชาวบ้านอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วความจริงคืออะไร แต่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ก็ระวังกันมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน

มาว่าเราต่อ คราวนี้อยากเล่าเรื่องการทุจริตของท้องถิ่นสักเรื่องสองเรื่องก่อนไปต่อเรื่องกระบวนการไต่สวนนะครับ เมื่อปลายปี 2559 ป.ป.ช.ไต่สวนอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง กรณีเบียดบังค่าไฟฟ้าและค่าดูแลตลาดหมู่บ้าน ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 เรื่องนี้อัยการส่งฟ้องคดียังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเมื่อราว ก.ย. 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ให้ลงโทษจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นสองปี และให้จำเลยคืนเงิน 20,000 บาท แก่ อบต.นั้น

ต่อมาเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 147 รวม 2 กระทง สั่งลงโทษจำคุก กระทงละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี โดยไม่ลงโทษปรับ เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

เป็นเรื่องอย่างนี้แล้ว ป.ป.ช.จะเห็นชอบตามอัยการสูงสุดที่จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้อ่านบางท่านอาจจะเข้าใจว่า เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ กับเงินค่าไฟฟ้าและค่าดูแลตลาด จะเป็นเงินเพียงไม่กี่หมื่น ทำไมต้องให้เป็นคดีกันด้วย แต่โดยภารกิจหน้าที่ของ อบต. ที่กฎหมายกำหนดมี 20 กว่าเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องต้องทำและอาจทำ เช่น ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น การหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต. รวมถึงให้มีตลาด เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ที่จะได้มา ซึ่งรายได้เพื่อนำไปเป็นงบประมาณบริหาร อบต.ของตนได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

เช่นกันเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ อบต.นั้นเป็นผู้ดำเนินการก็ต้องนำรายได้จากการจัดเก็บมาเป็นงบประมาณของ อบต.นั้นเพื่อนำไปพัฒนาหรือให้บริการสาธารณะแก่ท้องถิ่นของตนหาใช่จะนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ เมื่อนายก อบต.เบียดบังรายได้เป็นประโยชน์ส่วนตน แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ความผิดทางอาญานั้นบทวินิจฉัยโทษเหมือนกันหมด เพราะเป็นเรื่องการทุจริต ยิ่งปัจจุบันการวินิจฉัยของศาลอาญาคดีทุจริตฯเป็นกระบวนการไต่สวนด้วยแล้วความชัดเจนของคดี ย่อมจะถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะศาลท่านจะซักถามเพิ่ม ถ้าความยังไม่ชัดเจนพอ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องครับท่านผู้อ่านที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ ป.ป.ช.ต้องรับพิจารณา ก็ต้องใช้วิธีการให้หน่วยอื่นช่วยบ้าง เช่น มีเรื่องหนึ่งที่มีการกล่าวหานายก อบต.กับพวกไม่เบิกจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้รองปลัด อบต.ที่ถูกปลดออกจากราชการ โดยไม่ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 15 วัน นับแต่วันขอรับบำเหน็จบำนาญ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย รองปลัดคนนี้เลยแจ้งความพนักงานสอบสวนอำเภอท้องที่เกิดเหตุ

จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเบื้องต้น รองปลัดคนนี้แกถูกปลดออกจากราชการตามมติ กก.ส่วนตำบลของจังหวัด แกเลยมีหนังสือถึงนายก อบต.เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญผ่านปลัด อบต. ซึ่งนายก อบต.รับทราบและสั่งการแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบ ต่อมาทาง อบต.ก็ส่งคำร้องไปอำเภอต่อไปยังท้องถิ่นจังหวัด แต่ระหว่างนั้นนายก อบต.คนนี้พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง ปลัดจึงทำหน้าที่นายก อบต.แทน ภายหลังท้องถิ่นจังหวัดตรวจสอบแล้วเห็นว่า เอกสารไม่ครบถ้วนได้แจ้งท้องถิ่นอำเภอ ทางท้องถิ่นอำเภอจึงมีหนังสือถึงนายก อบต.ให้ดำเนินการให้เรียบร้อยถูกต้องครบถ้วน จากนั้นปลัด อบต.ทำหน้าที่นายก อบต.นั้นมีหนังสือไปยังอำเภอพร้อมเอกสาร ครั้นอำเภอส่งเรื่องไปยังท้องถิ่นจังหวัด ทางจังหวัดตรวจสอบแล้วเห็นว่า การส่งเอกสารยังไม่ครบถ้วนอีก เช่น อัตราเงินเดือนไม่ตรงประวัติ คำนวณเวลาราชการไม่ถูกต้อง เป็นต้น จังหวัดจึงมีหนังสือแจ้งให้ อบต.ตรวจสอบข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนเพื่อดำเนินการต่อไป

ทาง อบต.โดยปลัดที่ทำหน้าที่นายก อบต.กลับมีหนังสือถึงรองปลัดที่ถูกปลดออก ให้แก้ไขแล้วยื่นไปให้ อบต.โดยด่วน รองปลัดคนนี้จึงร้องเรียนอดีตนายก อบต.กับพวกว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้ตนทำให้ได้รับความเสียหาย เรื่องนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า เป็นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงรับเรื่องแต่ให้ส่งจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุดำเนินคดี ฟังๆ แล้วเรื่องเล็กใหญ่ยังไงท่านนายกหรือเจ้าหน้าที่ ก็ควรระวังไว้บ้างนะครับ ดูแลสุขภาพกันนะครับท่านผู้อ่าน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...