ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ราชกิจจาฯประกาศบอร์ดใหม่ผ่อนคลายโควิด-19
20 ม.ค. 2564

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2564 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการทางกฎหมาย ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบันยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 12 พ.ค. 2563

ข้อ 2 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขึ้นใหม่ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่ และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปียะสกล สกลสัตยาทร เป็นที่ปรึกษา

(2) ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม คชินทร เป็นที่ปรึกษา

(3) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน

(4) รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย เป็นรองประธาน

(5) รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นรองประธาน

(6) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นกรรมการ

(7) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกรรมการ

(8) ผู้แทนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ

(9) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เป็นกรรมการ

(10) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ เป็นกรรมการ

(11) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและการพัฒนา เป็นกรรมการ

(12) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ

(13) ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการ

(14) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ

(15) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ

(16) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ

(17) ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ

(18) ผู้แทนสำนักงานรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นกรรมการ

(19) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นกรรมการ

(20) นายนิพนธ์ พัวพงศกร เป็นกรรมการ

(21) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

(22) เจ้าหน้าที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 2 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

หน้าที่และอำนาจ

(1) ประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ กลั่นกรอง รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทางวิชการ และข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เพื่อประกอบการจัดทำแนวทางผ่อนคลาย หรือกระชับการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาต ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด

(2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางผ่อนคลายหรือกระชับการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

(3) ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเมินผล และสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการภายใต้แนวหาผ่อนคลายหรือกระชับการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และรายงานผลการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทราบเป็นระยะ

(4) ประสานการดำเนินการกับส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือส่งเอกสารหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

(5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

(6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มอบหมาย

ข้อ 3 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว และจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ ให้ประธานกรรมการมีอำนาจใช้อำนาจคณะกรรมการไปพลางก่อนได้ ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการที่ประธานกรรมการมอบหมาย สามารถประชุมร่วมกับกรรมการเฉพาะบางคนในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของกรรมการผู้นั้นได้ โดยอาจเชิญบุคคลอื่นมาร่วมหารือด้วยก็ได้ ซึ่งมติของที่ประชุมตามข้อนี้ถือเป็นมติคณะกรรมการ

ข้อ 4 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ข้อ 5 บรรดาคำสั่ง ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติ หรือมาตรการใดๆ ที่ได้ออกภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 27 มี.ค. 2563 และมีผลอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...