ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมการแพทย์แนะผู้ป่วยวัณโรคปอด ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
01 ธ.ค. 2563

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือน ผู้ป่วยวัณโรคปอดควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ชี้หากพบเชื้อไวรัสเอชไอวีร่วมกับการป่วยวัณโรค จะทำให้อาการของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แนะปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด  

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวีถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดวัณโรค ดังนั้นวัณโรคและเอชไอวีจึงมีความสัมพันธ์ และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ระบบภูมิต้านทานในร่างกายจะอ่อนแอลง 
จึงทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยเป็นวัณโรคง่ายกว่าคนปกติ ทั้งในผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อวัณโรคและผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคมาช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือวัณโรคระยะแฝง และการติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มการป่วยวัณโรคซ้ำ ซึ่งเกิดจากการลุกลามของเชื้อวัณโรคเดิมหรือการรับเชื้อวัณโรคใหม่ นอกจากนี้ผลกระทบของการติดเชื้อเอชไอวียังเพิ่มโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยารักษาโรคเอดส์และวัณโรค ทำให้อาการข้างเคียงของการรักษาวัณโรคสูงขึ้น เช่น การแพ้ยา และภาวะดื้อยา อาจทำให้ผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยวัณโรคปอดให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย 

 นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันการรักษาวัณโรคเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งโดยทั่วไปจะเลือกใช้สูตรการรักษาระยะสั้นมาตรฐาน 6 เดือน หากผู้ป่วยที่รับการรักษาจนครบกำหนดและเชื้อไม่ดื้อยาจะมีโอกาสหายขาดได้มากกว่าร้อยละ 95 เหมือนกับคนทั่วไป แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ป่วยวัณโรค คือ ผู้ป่วยมีโอกาสแพ้ยาได้ และมักไม่มารับการรักษาสม่ำเสมอจนครบกำหนดหรือมีภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ส่งผลให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง หรือสิ้นสุดก่อนกำหนด สำหรับการรักษาเชื้อเอชไอวีและเอดส์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มียาต้านไวรัส เพื่อชะลอความเสียหายที่ไวรัสจะก่อให้เกิดแก่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยวัณโรคและติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย คือ รับประทานยาสม่ำเสมอ ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ คอยสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากยาวัณโรคตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อจะได้รีบหยุดยาชั่วคราวก่อนที่อาการจะรุนแรง แต่ข้อสำคัญคือห้ามหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด รวมทั้งควรพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น ปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติดทุกชนิด งดบริจาคเลือด อวัยวะต่างๆ และควรใช้ถุงยาอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เอชไอวี นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...