ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
27 พ.ย. 2563

ปฏิบัติการย้ายข้าราชการที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยอีกครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับว่าคือมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ที่โยกย้าย อรรถพล เจริญชันษาจากอธิบดีกรมป่าไม้ที่ต้องดูแลความสมบูรณ์ของป่าเขาลำเนาไพรตามธรรมชาติ ไปนั่งกุมบังเหียนตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ทั้ง 2 กรมจะอยู่ในสังกัดเดียวกันก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม

เพราะเส้นทางการเติบโตของเขา ลุยมาจากแวดวงของป่าเขาลำเนาไพรตลอด ล่าสุดที่เป็นข่าวเกรียวกราวในตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ก็คือ การแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกป่ากับ 2 พ่อลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ราชบุรี ชื่อดัง อย่างไรก็ตาม หลังเข้ารับบทบาทใหม่ในฐานะผู้ดูและควบคุมปัญหามลพิษของประเทศ อรรถพล เจริญชันษา ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในหน้าที่ใหม่ไม่แพ้ตำแหน่งเดิมแม้แต่น้อย โดยเฉพาะปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังเกิดขึ้น

อปท.นิวส์ญเป็นแขกฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมาร่วมพูดคุยกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษคนใหม่คนล่าสุด หรือที่คนรู้จักมักจะเรียกเขาว่า “เอ็ดดี้” ไปด้วยกัน โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษใหม่ถอดด้าม เริ่มบอกถึงที่มาของชื่อ “เอ็ดดี้” ว่า เป็นชื่อที่เพื่อนเรียกกันมาตั้งแต่สมัยเรียน จนติดปากมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่จริงๆแล้วชื่อเล่นที่แท้จริงคือ“ก้อง”

จบการมัธยมศึกษาปีที่ 5 รุ่นสุดท้ายที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แล้วมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ด้วยการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือในสมัยนั้นจะเรียกกันว่า “เอนทรานซ์” ซึ่งการได้เข้ามาศึกกษาที่คณะวนศาสตร์ก็ไม่ได้เลือกเป็นคณะอันดับ 1 แต่เป็นอันดับที่ 5 ซึ่งก็มาติดอันดับที่ 5 นี้ ก็เลยเรียนในคณะนี้เรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นไม่เคยคิดว่าต้องมาทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรแต่พอได้มาเริ่มทำก็ค่อยๆฝังรากความซึมซับความชอบในเรื่องนี้ไป ซึ่งในตอนเรียนขณะนั้นมีระบบโซตัสก็เลยมีความแนบแน่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องก็ยิ่งทำให้เกิดความซึมซับด้านของการอนุรักษ์ป่าไม้ยิ่งขึ้น

“เรียนจนจบแต่ก็ไม่ได้เรียนเก่งอะไร เรียนจบ 5 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งในระหว่างเรียนได้ประสบการณ์มากมาย ชอบทำกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัย และก็ชอบไปลงเรียนในวิชาสาขาอื่นๆร่วมด้วย ก็เลยเป็นโอกาสเสริมให้เรารู้มากขึ้น”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกด้วยว่า พอเรียนจบก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่ “ดอยตุง”ในโครงการพัฒนาดอยตุงในปี 2531โดยเป็นลูกจ้างอยู่ที่หน่วยป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยจัดการต้นน้ำที่ดอยตุง ซึ่งตอนนั้นโครงการนี้กำลังเริ่มขึ้นมา และตอนนั้นสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็ยังประทับอยู่ที่ดอยตุง มีการสร้างพระตำหนักขึ้นมา ก็ไปทำหน้าที่ปลูกต้นไม้ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ที่มีหลากหลายพันธุ์สีสันสวยงาม ทั้งกาหลง สนสองใบ ชวนชม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทำงานอยู่ได้เกือบปีก็ลงมากรุงเทพฯ ลองเข้าสัมภาษณ์งานของบริษัทสหวิริยาในด้านเกี่ยวกับสวนป่า พอดีคนสัมภาษณ์เป็นฝรั่งและเขาอยากได้ลูกทีมมาช่วยทำงานเรื่องปลูกสวนป่าซึ่งเขาก็ชอบและอยากให้มาร่วมทำงานก็เลยเลือกให้มาเป็นรองผู้จัดการเลยเปลี่ยนงานมาทำงานเอกชน แต่ก็อยู่ได้ประมาณสัก 4 เดือนเพราะพอดีสอบบรรจุได้

ประกอบกับช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องภัยพิบัติกะทูนที่เกิดพายุทำให้ต้นไม้เสียหาย มีการปิดสัมปทานป่าไม้มีการรับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อที่จะมาดูแลป่าให้มากขึ้นในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการทำงานด้านป้องกันรักษาป่าและปราบปราม ซึ่งก็มาสอบบรรจุแล้วก็ได้รับราชการมาตั้งแต่นั้นและก็ทำงานด้านการป้องกันรักษาป่ามาโดยตลอด ทั้งการลาดตระเวน ตรวจป่า จับกุมการบุกรุกป่า

“จากนั้นก็ได้ขอเข้ามาทำงานส่วนกลาง เพราะรู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่เราไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ คือบางครั้งเราไปจับชาวบ้านตาสีตาสาและไม่สามารถจับกุมผู้ทำผิดรายใหญ่หรือผู้บงการได้เลย จับชาวบ้านไปบางครั้งเราก็สงสารต้องไปซื้ออาหารกับข้าวมาให้พวกเขาก็เลยรู้สึกว่ายังทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะมีเรื่องของอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องก็เลยขอเข้ามาอยู่ส่วนกลาง พอมาอยู่ส่วนกลางเขาก็ให้ไปทำงานเกี่ยวกับการบินลาดตระเวนป่า ช่วงนั้นก็ทำหน้าที่ขึ้นบินเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจป่า ก็ทำเรื่อยมาจนเกือบ 10 ปี แล้วก็มาทำเพิ่มเติมในเรื่องการตรวจบุกรุกพื้นที่ในรูปแบบการออกเอกสารไม่ถูกต้อง”

อธิบดีฯ อรรถพล เล่าต่อว่า จากนั้นก็มาอยู่งานด้านป้องกันและควบคุมไฟป่ามาเป็นหัวหน้าสถานีไฟป่า แล้วก็มาเป็นหัวหน้าศูนย์ไฟป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านภาคตะวันออกก็ทำมาเกือบ 10 ปี จากนั้นก็มาเป็นผู้อำนวยการส่วนยุทธการที่กรมอุทยานฯก็กลับมาทำงานด้านการปราบปรามอีก และได้มีการสร้างทีมใหม่ถือเป็นยุคเริ่มสร้างทีมของกรมอุทยานฯเลยในขณะนั้น จนมีการฝึกอบรมหน่วยพญาเสือซึ่งเป็นคนตั้งหน่วยนี้ขึ้นมาเอง ทำมาได้ประมาณ 4-5 ปี ผู้หลักผู้ใหญ่ก็สนับสนุนให้เป็นผู้อำนวยการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ขยับมาเป็นซี 9 แต่ก็เป็นไม่นานแล้วก็มาเป็นผู้อำนวยการสำนักป้องกันที่กรมป่าไม้ และนี่คือจุดแรกที่เริ่มกลับมาอยู่กรมป่าไม้ในปลายปี 2557ก็ได้มาทำเกี่ยวกับการจัดระบบทวงคืนผืนป่า ซึ่งแผนทวงคืนผืนป่านี้ตนก็เป็นผู้ร่างออกแบบขึ้นมาเอง และก็ได้มีการร่วมตั้งทีมพยัคฆ์ไพรขึ้นมาด้วย

“ทำให้สถิติการบุกรุกป่าหยุดนิ่งและถือว่าน้อยมากจากที่เราได้มีการปราบปราม ประกอบกับได้มีการตามทวงคืนผืนป่าที่ออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้องด้วย จนได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งช่วงนี้ก็ทำงานอย่างหนักทั้งเชิงปฎิบัติการและเรื่องของการแก้ไขกฎหมายจนขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้”

อธิบดีฯ อรรถพล เล่าด้วยว่าหลังมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ได้ปรับโครงสร้างวิสัยทัศน์การทำงานของกรมใหม่หมด คือต้องเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นรักษาป่า ส่งเสริมไม้มีค่าป่าชุมชน คนอยู่กับป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความสุขของคนไทยนั่นหมายถึงว่าเอาความสุขของประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้งภายใต้การบริหารทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน คือเป็นการพลิกโครงสร้างการทำงานวมถึงทัศนคติการทำงานของกรมป่าไม้ใหม่หมด เพราะต้องเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานให้มาร่วมกับประชาชนให้ได้

“จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้กฎหมายจะออกมาจำนวนมาก ทั้งพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน นอกจากนั้นก็ยังมีงานเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ ก็นับได้ว่าเป็นรูปโฉมใหม่ของกรมป่าไม้มาจนถึงทุกวันนี้จากที่ได้ปูทางกันมา”

ต่อมาทางผู้ใหญ่บอกว่าให้มาปฎิรูปด้านสิ่งแวดล้อมบ้างเพราะว่างานด้านนี้ยังไม่ค่อยมีหรือชัดเจนมากนักจะมีแค่เรื่องงานด้านการประชาสัมพันธ์ งานรณรงค์ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เลยอยากให้มาดำเนินการในเรื่องนี้ให้มีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมีเยอะมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกับปัญหานี้ก็มาก แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาทำงานแล้วจัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ก็เลยย้ายมาเป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และหลังจากที่ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้ไม่นานได้ปรับเปลี่ยนการทำงานทั้งโครงสร้างแนวการทำงานไปอย่างมาก

อธิบดีฯ อรรถพล แย้มความคิดให้ฟังด้วยว่าเตรียมจะเปลี่ยนชื่อกรมควบคุมมลพิษเป็น “กรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” และตอนนี้ได้ตั้งศูนย์บริการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการพยายามปรับโครงสร้างใหม่ให้กรมนี้สามารถทำงานได้อย่างเบ็ดเสร็จในเรื่องของการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้

“ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการไม่ว่าจะเรื่องการกำหนดมาตรการการนำเข้าขยะ การลักลอบขนขยะเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นถังขยะโลก โดยจะทำควบคู่กันไประหว่างการกำหนดมาตรฐานกับการปราบปรามเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และนี่คืองานที่จะปูทางให้กับกรมควบคุมมลพิษและเป็นกรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต”

สำหรับอุปนิสัย อธิบดีฯ อรรถพล บอกว่า เป็นคนไม่ได้มีลักษณะนิสัยอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษจะปรับไปตามบทบาทและสถานการณ์มากกว่า พร้อมบอกว่าการทำงานต้องหลากหลาย จะดุบ้าง ใช้ไม้แข็งไม้อ่อนบ้าง เพราะต้องบริหารคน ดังนั้นต้องใช้ทุกบุคลิกในการทำงาน รวมถึงต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ยอมรับว่า เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานคือการทำงานถ้าทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จก็จะหาทางอื่นๆที่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ เพราะเชื่อว่ายิ่งปรับเปลี่ยนยิ่งเกิดการพัฒนา

ส่วนกิจกรรมยามว่างแม้จะไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก แต่ก็ชอบที่จะออกกำลังกาย เพราะด้วยพื้นฐานเป็นคนที่เล่นกีฬาด้วยอยู่แล้วก็เลยให้ความสำคัญเรื่องของการออกกำลังกาย คือมีเวลาว่างเมื่อไหร่จะออกกำลังกาย อาจจะเล่นโยคะบ้างเพราะว่าถ้าไม่รักษาร่างกายก็จะไม่สามารถทำงานได้ดีนอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีข่าวสารอย่างมาก

“คือเราต้องทันต่อเหตุการณ์ ต้องชี้แจง ต้องทำความเข้าใจ จะกำชับกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยเลยว่าจะให้มาทราบเรื่องหลังสื่อมวลชนไม่ได้เด็ดขาดเพราะมีแนวความคิดว่าผู้บริหารที่ดีต้องทันต่อเหตุการณ์”อธิบดี อรรพล กล่าวในท้ายสุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...