ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
วัชรี ชูรักษา : ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. เป้าหมายและความสำคัญของ“การท่องเที่ยวโดยชุมุชน”
26 พ.ย. 2563

สัมภาษณ์

วัชรี ชูรักษา : ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท.

เป้าหมายและความสำคัญของ“การท่องเที่ยวโดยชุมุชน”

 

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนคือ พัฒนาต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและลงลึกไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนต่างๆ จนได้รับความชื่นชมทั้งในและนอกประเทศ โดย อปท.นิวส์ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจากนางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. มาบอกเล่าถึงเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญๆ ของ อพท. ดังนี้

  • ความสำคัญและเป้าหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง?

อพท.ตระหนักถึงชุมชนในระดับพื้นที่มาก เพราะเขาเป็นเจ้าของทรัพยากรในท้องถิ่น ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก อย่างปี 2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาท แต่รายได้ที่เกิดขึ้นนั้นได้กระจายไปสู่คนในท้องถิ่นหรือไม่ เพราะเท่าที่รับทราบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะนำรายได้ไปสู่ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว แล้วคนที่อยู่ในชุมชนได้อะไรหรือยัง

อพท.มองว่า จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จึงนำหลักการของการพัฒนาของการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาดำเนินการ หลักการคือ ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรที่เขามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิถีวัฒนธรรม เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่เขามี ดังนั้นเราก็นำการท่องเที่ยวมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชุมชมชได้รับประโยชน์ และประโยชน์นั้น ทำให้เขาเกิดความรักในทรัพยากรที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ  เท่ากับได้สร้างความยั่งยืนได้แล้ว เพราะจุดขายของการท่องเที่ยว ก็คือทรัพยากรท่องเที่ยว ดังนั้นความสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชนก็คือ ทำให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว และเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยว

  • อพท.เข้าไปดำเนินการอย่างไรบ้าง?

เรามีกระบวนการพัฒนา โดยใช้หลักการ “การมีส่วนร่วม” เราเรียก Co-creation คือการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน ไม่ใช่ชุมชนท่องเที่ยวอย่างเดียว เรามีนักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าไปคุย จัดประชุมว่ามีทรัพยากรอะ ไรอยู่บ้าง มีศักยภาพอะไรบ้าง ไปสืบค้นร่วมกับเขา และเราก็มีเครื่องมือคือเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC  เป็นตัววัดว่า ถ้าใครมีหลักการอย่างนี้ ใครทำแบบนี้ คุณทำท่องเที่ยวยั่งยืนได้แน่นอน

สิ่งแรกคือเราไปประเมินก่อน เช่น พบทรัพยากรมีคุณค่า อยู่ข้างอุทยานแห่งชาติ อยู่ติดอุทยานประวัติศาสตร์ มีน้ำตก มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ มีความเป็นชาติพันธุ์ มีพิธีกรรม มีประเพณีวัฒนธรรม หมายถึงเขามีคุณค่าแล้ว แต่เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคุณค่าเหล่านั้น ดังนั้นแล้วเขาต้องพัฒนาอะไรบ้าง เช่น การท่องเที่ยวเข้ามา ต้องกิน แล้วอาหารท้องถิ่นมีไหม ใครทำได้มาช่วยกัน เรื่องกิจกรรมในชุมชน เสน่ห์ของชุมชน ดึงเข้ามาเป็นกลุ่ม มาประชุมกัน มีการตั้งเป็นชมรม สืบค้นอัตลักษณ์ท้องถิ่นมีอะไร กิจกรรมที่เป็นวิถีเราเป็นอะไร มีประเพณีวัฒนธรรมอะไร ของฝากที่มีอยู่คืออะไร ดึงออกมาให้หมด

จากนั้นเราจะมาช่วยกันร้อยเรียงให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว มีการจัดทำแผนร่วมกัน สร้างความเข้มแข็ง ขาดอะไรก็ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย เช่น อพท. กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานวัฒธรรม สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานส่งเสริมการเกษตร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สถาบันการศึกษาในพื้นที่ สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว และที่สำคัญก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมาร่วมด้วย เพราะมีบทบาทที่สามารถนำไปบรรจุในงบประมาณพัฒนาชุมชนได้

  • มาถึงตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ?

เดิม อพท. ดูแลอยู่ 6 พื้นที่พิเศษรวม 7 จังหวัด โดยมี 14 ชุมชนต้นแบบของการพัฒนา และประกาศให้หน่วยงานที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง  พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันทั้ง 14 ชุมชน เติบโตเข้มแข็งและสามารถเป็นหัวหน้าหน่วยไปสอนชุมชนต่างๆ ได้ ซึ่งชุมชนต้นแบบที่ อพท. พัฒนาจนเป็นผลสำเร็จ พิสูจน์ได้จากการได้รับรางวัลการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับประเทศ และรับรางวัลระดับนานาชาติ  Pata Gold Award จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  ซึ่งในฐานะคนทำงานอย่าง อพท. เห็นแล้วก็ชื่นใจกับรางวัลที่ชุมชนได้รับ เพราะพิสูจน์ได้ถึงความยั่งยืน เข้มแข็ง และใช้การท่องเที่ยวกระจายประโยชน์สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้ อพท. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปพัฒนาชุมชนใน 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ครอบคลุม 37 จังหวัด  ซึ่ง อพท. ได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนารวม 120 ชุมชน  ซึ่งตอนนี้พัฒนาสำเร็จและพร้อมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวได้แล้ว 81 ชุมชน โดยมีทั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ  ททท. และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)  หรือ สสปน. นำไปเสนอขาย

  • การท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ามาช่วยทำประโยขน์อะไรได้บ้างในช่วงวิกฤตตอนนี้ ?

1. สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน  2. สร้างความรักสามัคคี 3. สร้างประโยชน์จากฐานทุนทางทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 4. การท่องเที่ยวโดยชุมชนกำลังตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยว เพราะว่าตลาดท่องเที่ยวอยู่กับแหล่งท่องเที่ยวหลัก ไปทะเล ไปเล่นน้ำ แต่พอมีเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมขนแล้ว มีเรื่องของวิถีวัฒนธรรมที่มีเรื่องราว  ความน่ารักของชุมชน เสน่ห์ของชุมชน ความมีน้ำใจของคนไทยและการดูแลต้อนรับ ซึ่งตอนนี้บริษัทท่องเที่ยวเริ่มนำไปบรรจุเป็นเส้นทางท่องเที่ยวหลักของเขา เพิ่มสินค้าใหม่ให้กับการท่องเที่ยวไทย และยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง อันนี้ตอบได้ทุกโจทย์

ปัจจุบัน อพท. มีภาคีที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดคือ  ททท.  และ สสปน.  ทำโครงการร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 6 สมาคมท่องเที่ยว เชิญบริษัทนำเที่ยวมาให้ความรู้ชุมชน ต้องออกแบบอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาแล้วเกิดประทับใจกลับไปต้องบอกต่อ ตอนนี้บริษัทนำเที่ยวเห็นคุณค่า รู้ว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนมีเสน่ห์ เขาก็ส่งออกในการท่องเที่ยวของเขา อันนี้เป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

  • เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอย่างไร ?

ประกอบด้วย 6 ด้าน 1. ด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ต้องมีกลไกการจัดการ ชุมชนต้องเป็นคนจัดการเอง ต้องรวมกลุ่มกันแล้วก็มีหน้าที่ชัดเจน ทำงานอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มให้ได้ 2. การจัดการสังคมเศรษฐกิจ การแบ่งปันกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 3. อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ รวบรวมวัฒนธรรรม อะไรบ้าง ด้านประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน การแต่งกาย เรื่องเล่าตำนาน 4. ด้านการอนุรักษ์และจัดการกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำอะไรบ้างเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการขยะอย่างไร เช่น เราก็ให้กรมอนามัย สํานักงานสาธารณสุข มาช่วยจัดการขยะเปียกก ขยะแห้ง ขยะสร้างรายได้  5. การบริการและความปลอดภัย และ 6. ด้านการตลาด เราต้องฝึกให้ชุมชนทำการตลาดออนไลน์ได้ เพราะเป็นตลาดที่กำลังมาแรง โดย อพท. สอนชุมชนใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊ค มีหลักสูตรการตลาด การถ่ายรูปยังไงให้สวย ดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม และในช่วงโควิด ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ที่ตกงานและกลับบ้าน เราใช้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านกลุ่มนี้ ดึงให้เข้ามาร่วมทำงานกับชุมชนของเขาเอง เพราะคนกลุ่มนี้จะเก่งเรื่องโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว โดยเชิญ ททท.มาช่วยมาเล่าให้ชุมชนฟัง สสปน.มาช่วยให้องค์ความรู้ด้านการตลาด  ซึ่งทั้งหมดเป็นการร่วมมือกันทำงานเพื่อการพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่ายั่งยืนที่เป็นระบบอย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...