ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
อพท. ชู ความสำเร็จพลังสตรี “น่านเน้อเจ้า” คว้า PATA Gold Award ก่อนก้าวสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี64
10 พ.ย. 2563

อพท. ปลุกพลังผู้หญิงถึงฝั่ง ประกาศความสำเร็จแบรนด์ น่านเน้อเจ้าจากผ้าทอพื้นเมืองใน 4 กลุ่มแม่บ้านสะท้อนอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครอวดโฉมนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ล่าสุดคว้างรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative  จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก  ส่วนแผนปี 64 เตรียมยกเมืองน่านชิงสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกจากยูเนสโก

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เพื่อสร้างพลังและการจดจำในผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากของที่ระลึกให้กับสินค้าพื้นเมืองของพื้นที่พิเศษ 6 จังหวัดน่าน  จึงจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่านภายใต้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เพื่อต่อยอดภูมิปัญญา สะท้อนเอกลักษณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ซึ่งแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่านที่มาจาก 4  กลุ่ม ในพื้นที่พิเศษของ อพท. คือ  กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง กลุ่มท่อผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้างเชียงราย ตำบลดู่ใต้  จุดเด่นคือทุกกลุ่มเป็นการรวมกันของกลุ่มสตรีแม่บ้านที่ว่างงานในตำบลนั้นๆ และมีใจรักในการทอผ้า ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์การทอผ้าเป็นลายซิ่นเฉพาะตัวที่เป็นลายดั้งเดิม โดยมีการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าทอทั้งในด้านคุณค่า และการต่อยอดภูมิปัญญา เกิดการสร้างสรรค์สืบสานทางวัฒนธรรมเมืองน่าน

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือพื้นเมืองที่สะท้อนอัตลักษณ์ และเป็นศิลปะชิ้นเอกที่ศิลปินเมืองน่านได้บันทึกมุมมองประวัติศาสตร์เมืองที่มีอายุกว่า 700 ปี ผ่านลวดลายบนผืนผ้า จุดเด่นทั้งเรื่องการรวมกลุ่มของสตรีแม่บ้าน ที่สรรค์สร้างจนเกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ และเพื่อส่งต่อคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมให้คนรักผ้าได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเป็นที่มาของแนวความคิดการส่ง แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ที่ขับเคลื่อนโดยพลังของผู้หญิง  เข้าชิงรางวัลจากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก  จนได้รับรางวัลจาก PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment  Initiative เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

เรียนรู้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” มองปัจจุบันย้อนสู่อดีต

นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์  ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า  การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของกลุ่มสตรีแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม ที่ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองน่าน ถือเป็นการสร้างกิจกรรม  ทางศิลปวัฒนธรรมที่เปิดให้กลุ่มนักท่องเที่ยว และ กลุ่มศึกษาดูงาน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และบ่มเพาะทางวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ที่เป็นการต่อยอดภูมิปัญญา รักษาเอกลักษณ์เพื่อสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังมีการพัฒนาโรงทอผ้า ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ เช่น การปั่นด้ายจากดอกฝ้าย ที่มีกรรมวิธีรีดเมล็ด ปั้นด้าย ดึงเป็นเส้น ฟั่นด้าย ก่อนที่จะนำไปสู่การยอมสีธรรมชาติ เพื่อนำไปขึ้นกี่สำหรับทอเป็นผ้าผืนโดยออกแบบลวดลาย สีสันตามแนวทางของแต่ละชุมชนซึ่งมีพื้นฐานจากลายต่าง ๆ ทั้งลายม่าน ลายป่อง ลายเชียงแสน ลายน้ำไหล  ฯลฯ และยังมีลายดอกจันทร์แปดกลีบ สะท้อนถึงความเชื่อของคนในพื้นถิ่นโดยการนำดอกไม้ ตามธรรมชาติมาพัฒนาเป็นลายผ้า มีกลีบดอก 8 ทิศ เป็นความเชื่อป้องกันภัยทั้ง 8 ทิศ

นอกจากนั้น อพท. 6  ยังได้เข้าไปพัฒนากลุ่มแม่บ้านและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่น ให้เป็นนักสื่อความหมาย             ที่สามารถเล่าเรื่องความเป็นมาของลายผ้าทอที่แฝงไว้ด้วยความหมาย อันลึกซึ้ง ทางคติ และความเชื่อ ของแต่ละชุมชน เพื่อให้เห็นคุณค่าของผ้าทอแต่ละผืนมากกว่าการซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน   รวมทั้งยังได้มีการสร้างกลุ่มเครือข่ายเยาวชนน่านในรูปแบบการจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชน เพื่อเสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน โดยนำเอาความรู้และมุมมองเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนมาพัฒนาทั้งในรูปแบบนักสื่อความหมาย นักกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการร้องเพลง เล่นดนตรีพื้นเมือง และการฟ้อนรำ ที่จะเป็นแนวร่วมของการสืบสานทางวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และความเข้มแข็งของชุมชน อพท. ยังได้เตรียมยกระดับเมืองเก่าน่านเข้าสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เพื่อเป็นเครื่องการันตีถึงความร่วมมือชาวน่าน ที่พร้อมจะรักษาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่โดยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์แหล่งท่องเที่ยวในทุกแง่มุม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรน่านเจ้า ที่มีอายุกว่า 400 ปี ที่สามารถย้อนภาพในอดีตที่ยังคงอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบันทั้งพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ อาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่า ที่เปิดให้บริการเป็นร้านค้าร่วมสมัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม

“ลายน้ำไหลหยดน้ำ”เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าน

อาจารย์ภัทราภรณ์ ปราบริปู ทายาทเจ้าฟองคำ ในฐานะผู้ดูแลโฮงเจ้าฟองคำ กล่าวว่า ปัจจุบันโฮงเจ้าฟองคำ เป็นวิสาหกิจชุมชน ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโรงทอผ้าซิ่น ที่มีการดึงช่างฝีมือเข้ามาร่วมกลุ่ม ในการทอผ้าและจัดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เรียนรู้ การทอผ้า ด้วยความพร้อมของสถานที่ที่เคยเป็นคุ้มเก่าของต้นตระกูลเจ้าฟองคำในอดีตสืบเชื้อสายมาจากเจ้าครองนครน่าน ทำให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ อพท. เข้ามาสนับสนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและฟื้นฟูศิลปะการทอผ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพื่อเล่าเรื่องราว โดยเฉพาะเอกลักษณ์ผ้าทอ “ลายน้ำไหลหยดน้ำ” ที่พัฒนาขึ้นจากลายน้ำไหลโบราณ ซึ่งเป็นลายพื้นฐาน ใช้ระยะเวลา   ในการทอ ถึง 22  วัน รับผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น   ขณะเดียวกันยังผลิตลายผ้าซิ่นอื่นๆ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ น่านเน้อเจ้า และถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชม รวมถึงประวัติความเป็นมา ของเจ้าของคุ้มในอดีต ซึ่งสถานที่นี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติอย่างมาก 

หลากหลายผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่าน

นางวัลภา อินผ่อง รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านซาวหลวง  กล่าวว่า บ้านซาวหลวง เป็นการรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านซาวหลวงซึ่งได้มีการคิดค้นลายผ้าซิ่นบ่อสวกเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ ประจำชุมชนแห่งนี้ที่ออกแบบมาจากเครื่องปั้นเดินเผาที่ขุดได้จากเตาเผาบ่อสวกที่พบลวดลายบนภาชนะปากโอ่ง จึงได้แกะลาย เพื่อมาทำเป็น  ลายผ้าทอ ที่เรียกว่า “ลายน้ำไหลบ่อสวก”  และยังได้มีการผลิตผ้าซิ่นลายอื่น ๆ นำมาออกแบบรวมกันเป็นลายผ้าซิ่นชนิดใหม่ๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ลายไม่ซับซ้อน ส่วนลายที่ออกงานพิธี และวิถีชาวพุทธ ลายผ้าซิ่น จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ขึ้นอยู่กับฐานะของบุคคล โดยเฉพาะการสอดดิ้นเงินและทอง ที่จะสะท้อนถึงฐานะส่วนใหญ่ผ้าซิ่นมีการออกแบบเปรียบเหมือนคน 1 คนที่มีองค์ประกอบ  เป็น 3 ส่วน คือ หัวผ้าซิ่น ตัวผ้าชิ่นและตีนผ้าซิ่น และได้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาสินค้าในแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ของ อพท.

นางสาวพวงทอง สุทธิจินดา เลขาฝ่ายขายกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย กล่าวว่า เป็นแหล่งผลิตผ้าซิ่น “ลายตาโก้ง” เดิมเป็นลายผ้าขาวม้าและผ้าห่มสะท้อนถึงความเชื่อในการคุ้มครอง และ พ้นภัยจากอันตรายทั้งปวง ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาการทอผ้าโดยการเพิ่มเส้นยืนเป็น 3 เส้น ทำให้สีไม่ตก มีเนื้อผ้าที่แน่นขึ้นสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆตามสมัยนิยม โดย อพท.เห็นถึงความโดดเด่นของลายตาโก้ง จึงได้ร่วมกับชุมชนพัฒนา

เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ อาทิ  ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน พวงกุญแจ ผ้าหุ้มโซฟาโรงแรม กระเป๋าเศษสตางค์ ฯลฯ

ทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนของพลังของผู้หญิงที่แข็งแกร่ง และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ผลิตภัณฑ์สินค้าของที่ระลึกจากชุมชนพื้นเมือง จังหวัดน่าน ที่เป็นอีกแรงหนึ่งในการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...