ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
เศรษฐกิจไฮโดรเจน
01 ต.ค. 2563

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 

เศรษฐกิจไฮโดรเจน

 

นานาประเทศทั่วโลกมีปัญหาร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เรื่องความมั่นคงของ “พลังงานฟอสซิล” ที่ใช้กันเป็นหลัก โลกรู้ว่า น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จะถูกเผาผลาญกันหมดโลกในอีกไม่นาน ด้านราคาทุกวันนี้ก็ถูกทุบถูกปั่นด้วยสถานการณ์ต่างๆ จนกระเทือนเศรษฐกิจ แม้กระทั่งประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็ยังรับผลไปด้วย ส่วนผลข้างเคียงคือ ภาวะโลกร้อนและมลพิษที่รุนแรงขึ้นทุกปี 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทิศทางของโลกคือ ต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือก ใช้พลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษ โลกวันนี้จึงกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และจะปรับเปลี่ยนเป็นยุคเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy)ในที่สุด เพราะเชื่อว่า พลังงานไฮโดรเจน คือคำตอบของโลกในเวลาอันใกล้

ปี 2024 มูลค่าตลาดไฮโดรเจน ฟิวเซลส์ ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ อาจจะยังไม่สูงแต่ทิศทางจะก้าวกระโดดเป็นทวีคูณ

สหภาพยุโรปหรือ EU ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตประชาชน มีการกำหนดนโยบายพลังงานในอนาคต และออกยุทธศาสตร์ด้านไฮโดรเจนของสหภาพยุโรป (EU Hydrogen Strategy) ซึ่งระบุถึงการลงทุน การกำกับดูแล การสร้างตลาด รวมถึงการวิจัยและนวัตกรรม

เป้าหมายปี 2030-2050 ของสหภาพยุโรปคือ เทคโนโลยีไฮโดรเจนควรจะได้รับการพัฒนาเติบโตเต็มที่และถูกนำไปใช้งานในวงกว้างในทุกภาคส่วนที่ยากต่อการลดการใช้คาร์บอน

ในฝั่งเอเชียวันนี้ มีความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ที่กำลังเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น 

จีนเคยได้รับบทเรียนราคาแพงในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก  มีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเต็มกำลัง มีการใช้น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เป็นพลังงานขับเคลื่อนประเทศ แต่คนจีนต้องเสียสุขภาพจากมลพิษและฝุ่น PM 2.5  พร้อมกับภาพจน์ของประเทศในฐานะผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่สุดของโลก จนรัฐบาลจีนต้องถอยมาตั้งหลักทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่ จากนั้นได้ออกนโยบายจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด พร้อมปรับนโยบายพลังงานที่มุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง

ในปี 2012 จีนได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ลงทุนด้านพลังงานสะอาดรายใหญ่สุดของโลก

สำนักงานพลังงานแห่งชาติจีนวางแผน 5 ปี (2016-2020) ลงทุน 2.5 ล้านล้านหยวน หรือ 13 ล้านล้านบาท พัฒนาพลังงานสะอาด ใช้งบ 1 ล้านล้านหยวน พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ 7 แสนล้านหยวน สร้างวินด์ฟาร์ม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 5 แสนล้านหยวน สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำขึ้นน้ำลง ที่เหลือใช้พัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพ

จีนยังตั้งเป้าในปี 2030 จะใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 35% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้า 

ในปี 2015 รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมายการเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ภายใน 10 ปี ตามนโยบาย “Made in China 2025” โดยมุ้งเน้นการพัฒนารถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และโดยเฉพาะรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ไฮโดรเจน มีแผนการผลิต 5,000 คันในปี 2020 เพิ่มเป็น 50,000 คันในปี 2025 และ 1ล้านคันในปี 2030

จีนวางแผนตั้งสถานีเติมไฮโดรเจน 1,000 สถานี ในปี 2030 ถึงปี 2050 สถานีเติมไฮโดรเจนจะบริการรถยนต์ได้ 1.6 ล้านคัน

เป้าหมายดังกล่าวของรัฐบาลคือ ทิศทางเศรษฐกิจที่ย่อมต้องได้รับการขานรับจากภาคเอกชน ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน อาทิ SAIC Motor Corporation ประกาศจะเปิดตัวรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอย่างน้อย 10 รุ่นภายในปี 2025  โดยจะผลิตรถยนต์เซลส์เชื้อเพลิง 10,000 คัน พร้อมตั้งทีมพิเศษเพื่องานวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ SIAC ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านหยวน ในการพัฒนารถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

เป่ยจิง ซีโนไฮเทค (Beijing SinoHytec)  ได้สร้างฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนด้วยทุนกว่า 1 พันล้านหยวน เพื่อผลิตรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจน 10,000 คันต่อปี

Great Wall เป็นค่ายรถยนต์ค่ายแรกๆ ที่เริ่มต้นการพัฒนายานยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีศูนย์เทคโนโลยี Fuel Cell ที่สำนักงานใหญ่ เมืองเป่าติ้ง ทางตอนเหนือของประเทศจีน วางแผนที่จะพัฒนายานยนต์ต้นแบบ Fuel Cell ให้ได้ในปี 2020 พร้อมทั้งแนะนำสำหรับการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่เมืองจางเจียโข่ว

จับตา 4 เมืองไฮโดรเจน ทาวน์

1. เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ปี 2020 จะเป็นไฮโดรเจน ทาวน์ ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ลงทุน 19,000 ล้านหยวน มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่รวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์พลังงานไฮโดรเจนระดับไฮเอนด์

2.เขตเหยียนซิ่ง ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่ง 75 กิโลเมตร มีการก่อสร้างสถานีเติมไฮโดรเจน สำหรับระบบคมนาคมสาธารณะจากรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เพื่อบริการขนส่งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้ชมงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022

3. เมืองจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว 2022 ร่วมกับกรุงปักกิ่ง ประกาศว่า จะเริ่มใช้รถโดยสารเชื้อเพลิงไฮโดรเจน บริการประชาชนในมหกรรมการแข่งขันอันใกล้

รถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสูงสุดถึง 500 กิโลเมตร จากการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง และเหมาะกับสภาพอุณหภูมิตั้งแต่ 30 องศาเซลเซียสลงไปจนถึงต่ำกว่า 0 องศา นั่นหมายความว่า รถยนต์เชื้อเพลิงชนิดนี้ เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นของเมืองจางเจียโข่ว

          4. เมืองอูฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่เคยเป็นศูนย์กลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะพลิกโฉมในปี 2025 เป็นเมืองพลังงานไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนิคมอุตสรไฮโดรเจน จะมีโรงงานผลิต Fuel Cell มากถึง 100 โรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน

มองมหาอำนาจจีนที่วางอนาคตเข้าสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว หันมาแถบอาเซียนก็ได้ข่าวว่ามีเพียงอินโดนีเซียที่คิดเริ่มขยับ ส่วนไทยเราปรากฎข่าวแค่แวดวงการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ กระทรวงพลังงานก็ได้แค่เล่นเก้าอี้ดนตรีกับรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มีวัตถุดิบล้นเหลือ ปล่อยให้โรงกลั่น ปตท.เผาไฮโดรเจนทิ้ง 1,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ 16 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นค่าไฟฟ้า 40 ล้านบาทต่อเดือน ปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท ที สูญเปล่า

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...