ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พื้นที่ชายแดนใต้อีก3เดือน
16 ก.ย. 2563

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เหตุยังมีการสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังควบคุมและแก้ปัญหาได้ตามปกติแล้ว

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563 มีเนื้อหาระบุดังนี้

ตามที่ได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ตามประกาศลงวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถขยายผลการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีการก่อเหตุการณ์ร้ายแรงเพื่อสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีศักยภาพในการปฏิบัติการและยังมีความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเกรงกลัวอันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยของประชาชน จนไม่อาจดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

จึงสมควรขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและของบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้อง เรื่อง ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ที่ประกาศออกมาในวันเดียวกัน มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 20 ก.ค. 2548 และได้ประกาศการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้มาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและประชาชน ภายในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้น

โดยที่ปรากฏว่า ในปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี อยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถใช้มาตรการต่างๆ เข้าควบคุม ระงับยับยั้ง และแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. เป็นต้นไป.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...