ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กรุงเทพมหานคร (กทม.)
15 ก.ย. 2563

           กรุงเทพมหานคร ฟ้าอมร ของคนไทยทุกคน พูดได้ว่าเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อเสียงโด่งดังเมืองหนึ่งของโลก เป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาสัมผัส ซี่งแน่นอนว่า เมื่อเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงแบบนี้ ความหลากหลายของปัญหาจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าทำได้อย่างดี

           อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจจะเห็นหนุ่มหล่อหน้าใสผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ที่ออกมาพูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และอาจจะคุ้นหูกับนามสกุล “ขวัญเมือง” จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า หนุ่มหน้าตาหล่อเหลาที่ชื่อ “ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้นี้เป็นอะไรกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมืองซึ่งคำตอบก็คือ เป็นลูกชายคนเล็กของผู้ว่าฯ กทม. นั่นเอง ดังนั้น อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกันในฉบับนี้

           ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง หรือ “หมวดเอิร์ธ” เริ่มต้นเล่าให้ทีมงานฟังว่าครอบครัวถือเป็นครอบครัวตำรวจอย่างแท้จริง เพราะทั้งคุณพ่อและพี่ชายและรวมถึงตัวเขาเป็นตำรวจกันทั้งหมด เริ่มเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วก็มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 ต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จากนั้นก็รับราชการเป็นตำรวจ

หมวดเอิร์ธ เล่าถึงที่ไปที่มาก่อนเข้ามารับหน้าที่โฆษก กทม.ว่า ช่วงเวลาที่รับราชการเป็นตำรวจได้เห็นปัญหาหลายๆ อย่างซึ่งก็ปัญหาเดิมๆ ที่เคยได้เห็นมานานแล้วตั้งแต่ตอนเรียน ซึ่งหมวดเอิร์ธมองว่าปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเรื่องของปัญหาอาชญากรรมส่วนใหญ่มักจะมาเกิดที่ปลายเหตุแล้ว

“คือเราไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุอย่างเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม จึงทำให้กลับมานั่งคิดว่าแท้จริงที่กำลังแก้ปัญหาอยู่นั้นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและสามารถแก้ปัญหาเป็นวงกว้างได้” หมวดเอิร์ธ กล่าวให้ฟัง พร้อมกับให้คำตอบว่า

สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือเรื่องของนโยบายก็เลยมีความคิดที่อยากจะเรียนต่อในเรื่องของนโยบายจึงเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจวึ่งหลังจากเรียนไปได้ 1 ปีก็ได้ทุนของรัฐบาลอังกฤษไปเรียนต่อที่ออกซฟอร์ดในเรื่องนโยบายสาธารณะโดยตรง ทำให้มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องนโยบาย ซึ่งการไปเรียนที่อังกฤษ ทำให้ได้พบผู้คนต่างๆมากมายโดยที่ประทับใจจะเป็นรัฐมนตรีจากประเทศปารากวัยรัฐมนตรีช่วยจากอาร์เจนติน่าที่มาเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนนี้ด้วยกัน ซึ่งการได้พบปะคนหลายๆคนทำให้รู้ว่าเรื่องของนโยบายสามารถแก้ปัญหาได้ จึงยิ่งทำให้อยากเข้าทำงานในด้านนโยบายมากขึ้น

โฆษกกรุงเทพมหานครเล่าให้ฟังต่อไปด้วยว่าหลังเรียนจบและกลับมาประเทศไทย ประจวบเหมาะพอดีกับกรุงเทพมหานครก็มีปัญหาหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา กทม.จะทำงานกันอย่างเต็มที่แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ได้ว่า กทม.ได้ทำอะไรไปบ้างหรือกำลังจะดำเนินการอะไรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้หมวดเอิร์ธมองว่าสำคัญเพราะถือเป็นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน

“บางคนอาจจะมองว่าการสื่อสารคือการแค่พรีเซ็นท์แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่แค่นั้น เพราะการสื่อสารคือทุกอย่าง เพราะถ้าเราดำเนินการบางอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนแต่ประชาชนไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะใช้ได้อย่างไรหรือว่ามันดีอย่างไร นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงคิดว่าจะเข้ามาช่วยในส่วนตรงนี้ ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ว่าฯ กทม.”

“ประเด็นนี้ก็อาจจะแยกกันไม่ขาดระหว่างเรื่องของการทำงานกับการเป็นพ่อลูก แม้หลายๆ คนอาจจะมองว่าการตัดสินใจที่ง่ายๆ คือการตั้งลูกของตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าการทำแบบนั้นจะมีข้อครหาหลายๆอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามาคุยกันว่าการเป็นโฆษกมีอะไรบ้างที่อาจจะก่อเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือหนึ่งการเป็นโฆษกนี้มีเงินเดือนหรือไม่ ซึ่งหากมีเงินเดือนก็จะเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์เพราะฉะนั้นแล้วโฆษกกทม.ไม่มีเงินเดือน”

นอกจากนี้ ยังต้องมาดูว่าการเป็นโฆษกมีอำนาจสั่งข้าราชการหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่มี เพราะโฆษกกทม.เป็นตำแหน่งที่คอยประสานและรับฟังอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมาคุยกันแล้วว่าไม่มีเรื่องที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงตกลงกับเรื่องนี้ แม้ข้อครหาอาจจะมีบ้าง แต่ถ้าใช้โอกาสนี้พิสูจน์ในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ก็เลยตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งหน้าที่ในการเป็นโฆษกกทม. หมวดเอิร์ธ กล่าวกับ อปท.นิวส์

โฆษกกรุงเทพมหานคร เล่าด้วยว่าการตั้งใจทำงานเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเวลาที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่หมวดเอิร์ธเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าต้องมาทำงานใหญ่ขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ได้กลายเป็นตัวชี้ชัดอย่างดเจนว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะจะเห็นได้เลยว่าวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการแพทย์หรือการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการแพร่ระบาด และการแพร่ระบาดก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้คนรู้ว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันดูแลและรักษาซึ่งต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลป้องกันตนเองไม่ว่าจะเรื่องของการสวมใส่หน้ากากอนามัย การดูแลล้างมือ การไม่ไปยังสถานที่สุ่มเสี่ยง เป็นต้น

“พอมองย้อนกลับไปก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่นี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศของเราไม่ให้เจอกับวิกฤติโควิดที่รุนแรงหรือแพร่ระบาดมากกว่านี้ ทั้งที่พื้นที่ของกรุงเทพมหานครนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก แต่เราสามารถควบคุมให้เมืองของเราและประเทศของเราไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ เพราะฉะนั้นจึงภูมิใจว่าการสื่อสารของผมแม้จะเป็นส่วนน้อยๆ แต่ก็สามารถทำให้ประเทศของเราพ้นวิกฤตินี้ไปได้” หมวดเอิร์ธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกกรุงเทพมหานครกล่าวถึงปัญหาการทำงานตัวเขามองเห็นนั้น คือเรื่องที่กทม.คิดจะทำอะไรหลายๆอย่างแต่กลับทำได้ไม่กี่อย่าง เพราะว่าการกระจายอำนาจของกทม.แท้จริงแล้วยังกระจายไม่สุด เช่นเรื่องบนท้องถนนกทม.มีหน้าที่ขีดสีตีเส้น การทำถนน การทางเท้าหรือทฟุตบาทการทำไฟจราจร แต่ผู้ที่ควบคุมการจราจรทั้งหมดเป็นตำรวจ ผู้ที่ควบคุมรถประจำทางคือขสมก. แล้วก็ถนนบางเส้นก็ดูแลโดยกระทรวงคมนาคม ทำให้บางทีคนออกแบบไม่ใช่คนคิดและคนคิดก็ไม่ใช่คนใช้ เลยมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากการกระจายอำนาจไม่เบ็ดเสร็จ

โฆษกกรุงเทพมหานครกล่าวย้ำถึงแนวคิดการทำงานด้วยว่าตัวเขามุ่งเน้นที่จะพัฒนาเมือง เพราะมองว่าการที่จะอยู่ในเมืองอย่างแรกเลยคือต้องมีชีวิตที่ดีมีความสุขทั้งกายและใจ โดยกทม.มีการปรับปรุงสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นให้ประชาชนเข้ามาใช้ในการออกกำลังกายดูแลรักษาสุขภาพ อีกทั้งเรื่องของการเดินทางในเมืองที่ต้องสะดวกซึ่งเรื่องนี้ก็พยายามที่จะใช้บริการรถประจำทางเพื่อที่จะได้รับรู้ถึงปัญหาว่าควรจะแก้ไขอะไรและอย่างไรบ้างและต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสุขด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งถนนคนเดินเพื่อให้คนผ่อนคลายพักผ่อนเดินเล่นในการจับจ่ายใช้สอย

อย่างไรก็ตาม ท้ายนี้หากให้ลองพูดถึงตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร โฆษกกรุงเทพมหานครบอกกับทีมงานอย่างติดตลกว่า ดูเหมือนตัวเองจะเป็นคนเพี้ยนๆ เพราะชอบใช้ชีวิตที่ลำบากและทำอะไรที่ท้าทาย เพราะเป็นคนที่เต็มที่กับชีวิตมากๆรวมทั้งเป็นคนชอบออกกำลังกายชอและบวิ่งมาราธอน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เที่ยวเมืองไทยมากขึ้นเพราะกิจกรรมที่กำลังสนใจและชอบในตอนนี้ก็คือการไปแคมปิ้งตามสถานที่ต่างๆที่สวยงามและเป็นธรรมชาติ เพราะสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการทำงานแล้วก็คือการให้ความสำคัญว่า “ณ ตอนนั้นเราอยู่กับใครมากกว่า อย่างแรกเลยคือพยายามที่จะใช้เวลากับครอบครัวให้มากที่สุดซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนมาโดยตลอดคือหากคิดว่าจะทำอะไรหรือชอบอะไรก็แล้วแต่ต้องทำให้เต็มที่ ไม่ใช่ทำๆแล้วหยุดหรือล้มเลิกไป” หมวดเอิร์ธ กล่าวในที่สุด

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...